สุขภาพและการแพทย์

ตายตาไม่หลับ เพราะมีห่วง-ตายไม่สงบ จริงหรือ หมอไขคำตอบคนตายเพื่อคนเป็น

ทำไมบางคนถึงตายตาไม่หลับ โดยเฉพาะคนที่เสียชีวิตกะทันหัน วิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องนี้ได้แบบสิ้นสงสัย

หลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะสังคมคนไทยพุทธ มีความเชื่อว่า คนเรามีตาย จากลาโลกนี้ควรหลับตา เพราะหมายถึงการจากไปอย่างสงบ การที่คน “ตายตาไม่หลับ” มักถูกตีความว่า ตายแบบทรมานหรือยังคงมีความกังวล ห่วงใยคนข้างหลัง วิญญาณที่เดินทางไปภพหน้าจะเต็มไปด้วยความทุกข์ ซึ่งทำให้คนข้างหลังยิ่งทุกข์ใจ

ตายตาไม่หลับทางวิทยาศาสตร์

ความจริงแล้ว มุมมองทางการแพทย์นั้น ความเชื่อเรื่องตายตาไม่หลับสัมพันธ์กับอารมณ์ห่วงทุกข์ ไม่เป็นความจริง

การที่ผู้เสียชีวิตบางคน “ตายตาไม่หลับ” คือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ

คนมักเข้าใจผิดว่าการลืมตาเป็นกระบวนการที่ต้องใช้กล้ามเนื้อ ส่วนการหลับตาไม่ต้องใช้แรง นั่นทำให้คิดว่าการหลับตาคือสภาวะ “ปกติ” ที่ควรเกิดหลังเสียชีวิต

แต่ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะลืมตาหรือหลับตาต่างก็เป็นผลจากการทำงานของกล้ามเนื้อโครงร่างที่ควบคุมด้วยเส้นประสาททั้งสิ้น

ดวงตาของเราเปรียบเหมือนอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนสูง การกลอกตาซ้ายขวาก็เป็นกลไกซับซ้อนที่ควบคุมโดยเส้นประสาทสมองหลายเส้น

ปกติการลืมตาหรือหลับตาใช้อวัยวะหลัก ๆ คือ เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 (Facial Nerve – ควบคุมการแสดงสีหน้า), เส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 (Oculomotor Nerve – ควบคุมการเคลื่อนไหวของตา) และเส้นประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nerve) กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องคือกล้ามเนื้อหูรูดตา (Sphincter of the Eye – ทำหน้าที่ปิดตา) ซึ่งรับคำสั่งจากเส้นประสาทใบหน้า และกล้ามเนื้อเลเวเตอร์ พัลพีบรี ซูพีเรียริส (Levator Palpebrae Superioris – ทำหน้าที่ยกเปลือกตาบน) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3

เมื่อคนเราสิ้นใจ การหยุดเต้นของหัวใจและหยุดหายใจถือเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิต เนื่องจากเซลล์สมองไวต่อภาวะขาดออกซิเจนมากที่สุด เส้นประสาทต่าง ๆ จึงหยุดทำงานทันที ส่งผลให้กล้ามเนื้อทั้งร่างกายผ่อนคลายถาวร ในทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะกล้ามเนื้อคลายตัวขั้นต้น (Primary Flaccidity)

ผลกระทบที่เห็นชัดเจนที่สุดกับดวงตา คือรูม่านตาขยาย เส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดตาและกล้ามเนื้อยกเปลือกตาล่างเป็นอัมพาต ทำให้ไม่สามารถบังคับให้ปิดหรือเปิดตาได้อีกต่อไป และการที่เส้นประสาทซิมพาเทติกเป็นอัมพาต ทำให้เปลือกตาสูญเสียการควบคุม ด้วยเหตุนี้ เปลือกตาตอนหลังการเสียชีวิตตามทฤษฎีแล้วจะหย่อนแบบเป็นธรรมชาติ แต่ไม่จำเป็นต้องปิดสนิทเสมอไป ใครที่ลืมตาอยู่ตอนก่อนสิ้นใจก็จะลืมตาต่อไป ใครหลับตาอยู่ก็จะหลับตาเช่นนั้น หากเราพบคนที่เสียชีวิตแบบลืมตา ให้ใช้นิ้วลูบเปลือกตาเบา ๆ กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงก็จะปิดลงเอง

สรุปแล้วนะครับ ตายตาไม่หลับ เป็นแค่ปรากฏการณ์ทางสรีรวิทยาเท่านั้น ที่กล้ามเนื้อของผู้เสียชีวิตคลายตัวลงทันที ไม่มีแรงให้กล้ามเนื้อปิดเปลือกตา

ในชีวิตจริงหลายคนมักจะนำไปตีความในเชิงลึกลับ ไม่ว่าจะลืมตาหรือหลับตาหลังสิ้นลม ก็ไม่ได้มีความหมายใด ๆ ทางการแพทย์ หรือไม่ได้บ่งบอกถึงความทรมานหรือความอาลัยอาวรณ์ใด ๆ ครับ

ตายตาไม่หลับทางความเชื่อ ไสยศาสตร์

วัฒนธรรมไทย ความเชื่อเรื่อง “ตายตาไม่หลับ” นั้น มีมานานแล้วโดยส่งทอดความรู้ต่อกันมาว่าวิญญาณของผู้ตายจะต้องเดินทางไปสู่ภพภูมิใหม่ การตายตาไม่หลับ เป็นการแสดงถึงความตายที่ไม่สงบ วิญญาณอาจจะยังมีห่วงใย กังวล หรือ ตายแบบทรมาน ทำให้ไม่สามารถไปผุดไปเกิดได้อย่างสงบ

บางกรณีหมายถึงมีความอาลัยอาวรณ์ ยังมีสิ่งที่ยังทำไม่เสร็จ หรือยังมีห่วงใยคนข้างหลัง จะทำให้กลายเป็นวิญญาณเร่ร่อน ไม่สามารถไปผุดไปเกิดได้

วิธีแก้เคล็ดสำหรับผู้ตายตาไม่หลับ

ตามความเชื่อ มีวิธีแก้เคล็ดสำหรับผู้ตายตาไม่หลับ ดังนี้

  • ปิดเปลือกตาให้ผู้ตายเบาๆ
  • นำเหรียญบาทวางบนเปลือกตา
  • ทาครีมบริเวณเปลือกตา
  • ใช้นิ้วมือแตะที่เปลือกตา แล้วอธิษฐานให้ผู้ตายไปสู่สุขคติ

ตายตาไม่หลับ สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อเปลือกตาไม่ทำงาน

Thaiger

The Thaiger นำเสนอข่าวสารล่าสุดและอัปเดตจากทั่วประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button