เฉลยแล้ว เส้นสีดำในมะม่วง ไม่ใช่พยาธิ ไม่อันตรายแค่เสี่ยงติดฟัน
หายสงสัย เส้นสีดำในมะม่วง ไม่ใช่พยาธิ กินแล้วไม่เสี่ยงอันตรายแค่ติดฟัน เจ้าของสวนมะม่วงเฉลยให้ สาเหตุเกิดจากการใส่ปุ๋ยคอก
กลายเป็นประเด็นถกเถียง เมื่อมีหนุ่มออกมาโพสต์ถามในกลุ่ม ความรู้รอบตัว ว่า “แฟนปอกเปลือกมะม่วงให้กิน ไอ้ดำๆนั่นคือพยาธิในมะม่วงหรอคับ” งานนี้ชาวเน็ตช่วยกันวิเคราะห์เพียบ จนมียอดกดไลค์ทะลุหมื่น พร้อมคอมเมนต์อีกกว่า 2 พันความคิดเห็น ก่อนที่ต่อมาจะมีผู้รู้ออกมาเฉลยให้แบบละเอียดยิบ ดังนี้
“สรุปแบบสั้นๆ
- เรียก Resin canal discolouration (RCD)
- ไม่ใช่เน่า ไม่ใช่พยาธิ ไม่อันตราย
- เป็นเส้นคล้ายยาง ด้านล่างเป็นแป้ง
- สร้างจากแบคทีเรียบางกลุ่มในพืช
- กินได้ รำคาญตรงติดฟัน
แบบละเอียด เรียกว่า resin canal discolouration (RCD) ค่ะ ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงคือการเก็บเกี่ยวไวไป, การใช้เวลานานระหว่างขนส่ง, สภาพ O2 ต่ำ, ความชื้นสูง
ทำให้แบคทีเรียประจำถิ่นบางชนิดเพิ่มจำนวนมากขึ้น (กลุ่ม Enterobacter spp. คล้ายกับที่เจอในมนุษย์แต่เป็น species ของพืช) ซึ่งพวกนี้จะสร้างสารกลุ่ม phenolic มารวมตัวกันเป็นคล้ายๆยาง (Resin-like) วางเป็นท่อสีน้ำตาลเข้มๆ ในชั้น exocarp ของผิวมะม่วง และยังสร้างพวกแป้งใต้ต่อท่อนี้ลงไปลึกถึงชั้นเนื้อผิวบนๆ (Mesocarp)
แต่ใยพวกนี้ไม่ได้อันตรายอะไร แบคทีเรียที่มีการศึกษาว่าสัมพันธ์กันนี้ ก็ไม่ได้ก่อโรคใดต่อไปในมนุษย์และยังหายไปเยอะแล้วระหว่างขนส่งมาถึงการวางแผน
ผลเสียต่อผู้บริโภคมีอย่างเดียวคือ รำคาญค่ะ มันติดฟัน ใครใส่เหล็กดัดฟันนี่ติดเลยค่ะ นอกนั้นไม่ได้ส่งผลเสียอะไร แต่เป็นปัญหาระดับโลกในผู้ค้ามะม่วง (และผลไม้กลุ่มสายพันธุ์นี้) เลยค่ะ เพราะมันอาจลดมูลค่า สุกแล้วยิ่งเห็นชัดค่ะ”
นอกจากนี้แล้ว เจ้าของสวนมะม่วงที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง ก็ได้เข้ามาอธิบายด้วยว่า “ขอตอบจากเจ้าของสวนมะม่วงค่ะ เกิดจากใส่ปุ๋ยคอกในช่วงก่อนเก็บผล1 -2 สัปดาห์ ส่วนที่เป็นเส้นนี้เพราะยังไม่ถึงอายุเก็บเกี่ยว แล้วถูกเอาไปบ่มทำให้สุก กระบวนการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลยังไม่สมบูรณ์เท่ากับมะม่วงผลที่อายุพร้อมเก็บ ถึงแม้จะต้นเดียวกันก็ตาม”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม