อ.จุฬาฯ โต้ดราม่า “รถกอล์ฟเชิญพระเกี้ยว” ชี้นิสิตตั้งใจคิดแต่ไดโนเสาร์ไม่เข้าใจ
รศ.ดร.พวงทอง ร่ายยาวปมดราม่า รถกอล์ฟอัญเชิญพระเกี้ยว ฝากถึงไดโนเสาร์บางกลุ่มเปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่ นิสิตคิดและออกแบบขบวนโดยให้เกียรติและสัญลักษณ์สื่อถึงมหาลัย
รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกรณีนิสิตจุฬาฯ ใช้รถกอล์ฟอัญเชิญพระเกี้ยว ในงานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้น เมื่อ 31 มี.ค.67 ที่ผ่านมา ณ สนามศุภชลาศัย โดยเสียงวิจารณ์บางส่วนทมีการตั้งคำถามว่า การกระทำแบบนี้เหมาะสมแล้วหรือไม่
เนื้อหาชี้แจงในเฟซฟบุ๊ก Puangthong Pawakapan ระบุ “ขอบอกพวกไดโนเสาร์ว่านิสิตเขาไม่ได้ทำเล่น ๆ เขาตั้งใจคิดและทำกันเต็มที่ และยังให้เกียรติกับสัญลักษณ์ของจุฬาฯ ด้วย โดยขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวถูกรายล้อมไปด้วยสัญลักษณ์ตัวแทนแห่งองค์ความรู้ของศาสตร์แขนงต่าง ๆ ได้แก่
- เข็มฉีดยาและขวดชมพู่ ตัวแทนของ วิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
- หนังสือเล่มหนา ตัวแทนของ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
- ไม้ฉากเรขาคณิต ตัวแทนของ คณิตศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์
- เกียร์ ตัวแทนของ วิศวกรรมศาสตร์
- สเลทฟิล์ม ตัวแทนของ นิเทศศาสตร์
- ดัมเบล ตัวแทนของ วิทยาศาสตร์การกีฬา
- จานสี ตัวแทนแห่งศาสตร์ศิลปะ
“สัญลักษณ์เหล่านี้เปรียบเสมือนองค์ความรู้ที่อยู่คู่กับจุฬาฯ ที่ได้พัฒนาวงการต่าง ๆ ในไทยและในระดับโลก ทำให้มหาวิทยาลัยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแรง”
“และอีกสิ่งประดับตกแต่งขบวนที่ทุกท่านจะเห็นได้นี้ คือ “อะตอม” ที่ส่วนเล็ก ๆ รวมกันกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เปรียบเสมือนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของนิสิต บัณฑิต และบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมแรงร่วมใจไปสู่การเป็นสถาบันเสาหลักที่ยั่งยืน”
“อีกทั้งขบวนยังถูกตกแต่งด้วยดอกไม้จากพลาสติกที่ใช้แล้ว กลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของงานนั่นคือ Unity to Sustainability และร้อยเรียงเป็น “พวงดอกกล้วยไม้ที่ผลิบาน” ดั่งโบราณว่า กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น การศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม”
“จงแก่แต่กาย แต่อย่าปล่อยให้ใจและสมองแก่ตามไปด้วยเลย หัดเปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่บ้างเถอะ”.]
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อาจารย์แพทย์เตือนนิสิตใช้ทุน อย่ามาสมัครงานด้วย ปมใช้รถกอล์ฟเชิญพระเกี้ยว
- สรุปดราม่าพระเกี้ยว บนหลังคารถกอล์ฟ งานบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
- เปิดที่มา ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว จุฬาฯ ประเพณีที่สานต่อกันรุ่นสู่รุ่น