อ.เจษฎา ตอบชัด วางน้ำแข็งในบ้าน ช่วยคลายร้อน-ลดค่าไฟ ได้ผลจริงไหม
อ.เจษฎา ตอบสงสัย หลังชาวเน็ตแห่แชร์ เทคนิควางขวดน้ำแข็งภาชนะสเตนเลสและเปิดแอร์ ช่วยคลายร้อนได้จริงหรือไม่ หลังชาวเน็ตแห่แชร์ตำราลดอุณหภูมิให้บ้าน ฉบับญี่ปุ่น
เรียกว่าร้อนระอุกันไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทยจริง ๆ สำหรับฤดูร้อนในปีนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นเดือนเมษายนที่บางจังหวัดอุณหภูมิอาจพุ่งสูงถึง 42 องศาฯ จนหลาย ๆ คนถึงกับเริ่มหาวิธีคลายร้อนฉบับประหยัด ซึ่งวิธีการที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ก็คือ การทำตามตำราญี่ปุ่น โดยนำขวดน้ำแช่ช่องฟรีซจนน้ำเป็นน้ำแข็ง จากนั้นเอาภาชนะสเตนเลสมาใส่ขวดน้ำ และเอาขวดน้ำแข็งมาตั้งไว้หน้าแอร์หรือพัดลม เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในบ้านให้ต่ำลง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความชี้แจงความจริงเกี่ยวกับวิธีการคลายร้อนที่ฮอตฮิตอยู่ในขณะนี้ โดยได้เผยว่า เป็นวิธีลดอุณหภูมิในบ้านที่ไม่ได้ส่งผลต่ออุณหภูมิโดยรวมของบ้านเป็นพิเศษแต่อย่างใด เพราะด้วยอากาศที่ร้อนเช่นนี้เพียงไม่นานน้ำแข็งก็จะละลายหมด ทั้งการจะทำน้ำแข็งขึ้นใหม่ก็จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าอีกไม่น้อย หากจะต้องการลดค่าไฟจริง ๆ วิธีนี้ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์
“ผมว่าทริก “วิธีลดอุณหภูมิในบ้าน” นี้ ไม่น่าเวิร์คมากอะไรเป็นพิเศษนะครับ .. แต่จะลองทำเล่นกันดูก็ได้นะ คือหลายท่านส่งมาถามความเห็น เกี่ยวกับ “วิธีลดอุณหภูมิในบ้าน (ตำราญี่ปุ่น)” ที่บอกให้ เอาขวดน้ำ แช่ฟรีซจนเป็นน้ำแข็ง แล้วออกมาใส่ภาชนะสแตนเลส วางบริเวณที่ต้องการลดอุณหภูมิ ในขณะที่เปิดแอร์ หรือไม่เปิดก็ได้ ลองแล้วรู้สึกอุณหภูมิลดลงเย็นสบายขึ้น แอร์ก็ไม่เหนื่อย ไม่ต้องทำงานหนักด้วย” !?
มันก็เหมือนกับเอาก้อนน้ำแข็ง มาตั้งไว้ในบ้าน ซึ่งอุณหภูมิที่จะเปลี่ยนไปก็คือการที่ก้อนน้ำแข็งดูดความร้อนเข้าไป ใช้พลังงานทำให้เกิดการละลายการเป็นน้ำ (ของเหลว) อีกครั้ง ซึ่งก็ไม่น่ามากมายอะไรนัก และก็ไม่น่าจะนานมากด้วย ก่อนที่จะละลายหมด (ก็คือไม่น่าจะลดอุณหภูมิของห้องลงไปได้ซักเท่าไหร่ และถึงได้ ก็ไม่นาน)
ถ้าเปิดเครื่องปรับอากาศอยู่แล้ว ก็ไม่น่าจะรู้สึกถึงความแตกต่างมากนัก .. แต่ถ้าไม่มีเครืองปรับอากาศ และใช้แค่พัดลม เป่าผ่านน้ำแข็งนี้ เข้าหาตัวเรา ก็น่าจะรู้สึกดีขึ้นได้ไอเย็นมากขึ้น มากกว่าใช้แค่พัดลมเปล่า ๆ (แต่พอละลายหมด ก็ไม่มีผลอะไรต่อไป)
ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การทำน้ำแข็งด้วยตู้แช่เย็น มันก็ใช้พลังงานจากไฟฟ้าเหมือนกันครับ อันนี้อาจจะต้องนำมาคิดรวมด้วย ถ้าคำนึงเรื่องค่าไฟ”
ข้อสรุป การใช้น้ำแข็งลดอุณหภูมิบ้าน มีผลดี-ผลเสียอย่างไร
อย่างไรก็ดี แม้ความจริงที่อาจารย์เจษฎาได้นำมาแบ่งปันจะช่วยไขกระจ่างว่า การวางขวดน้ำแข็งลดอุณหภูมิในบ้านไม่ได้มากอย่างที่คิด แต่หากต้องการความเย็นจากไอน้ำแข็ง วิธีการดังกล่าวก็สามารถทำได้ ซึ่งก็อาจจะต้องคำนึงถึงเรื่องของค่าไฟด้วย เพราะการทำน้ำแข็งจำเป็นต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าเช่นเดียวกับการเปิดแอร์และเปิดพัดลม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อ.เจษฎา เตือน “ฟองน้ำล้างจาน” แหล่งกักตุนเชื้อโรค ไม่ควรใช้จนยุ่ย
- เผยอุณหภูมิเดือนเมษายน 2567 เดือดพุ่ง 40 องศา สีแดง-ดำไหม้ ร้อนกว่าปีที่แล้ว
- ‘อาจารย์เจษฎา’ แจง กระดาษทิชชู่ ไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก