สรุปดราม่าพระเกี้ยว บนหลังคารถกอล์ฟ งานบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
สรุปข่าวดราม่า ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ในงานบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ หลังจุฬาเปลี่ยนแผนใช้รถกอล์ฟแทนเสลี่ยง ทำเอาถูกวิจารณ์สนั่นโซเชียล
จากกรณีงานบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่เพิ่งจัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2567 ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางฝั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับรูปแบบการจัดขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว พิธีศักดิ์สิทธิ์ ที่ทำกันมารุ่นสู่รุ่น เนื่องจากในปีนี้ จุฬาใช้วิธีวางพระเกี้ยวไว้บนหลังคารถกอล์ฟ แทนที่การแบกเสลี่ยงแบบที่ทำกันมาหลายสิบปี ทำให้บรรดาศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน รวมถึงชาวเน็ตบางส่วน ไม่เห็นด้วยและออกมาโพสต์ตำหนิสนันโลกออนไลน์
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2477 ได้มีการริเริ่มประเพณีฟุตบอลสานสัมพันธ์ระหว่าง จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ คล้ายกับธรรมเนียมการแข่งเรือพายของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในประเทศอังกฤษ ก่อนที่ต่อมาในปี 2507 ทางจุฬาฯ จะเริ่มใส่เอกลักษณ์ลงไปมากขึ้น ด้วยการทำพิธีอัญเชิญพระเกี้ยว ในขบวนพาเหรด จนกลายเป็นไฮไลท์เด่นของงานมาจนถึงปัจจุบัน
แรกเริ่มขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว จะเป็นการให้กลุ่มนักศึกษาช่วยกันแบกเสลี่ยงที่ด้านบนมีตัวแทนชายหนึ่งคนและหญิงหนึ่งคน ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระเกี้ยว ซึ่งถือเป็นดาวเด่นของงานที่ถูกจับตามองเป็นประจำทุกปี ซึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีคนดังที่เป็นนิสิตรั้วจุฬาฯ มากมายได้รับหน้าที่นี้ อาทิ แอฟ ทักษอร และ แต้ว ณฐพร
ทว่าในปี 2567 ประเพณีขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวของจุฬาฯ ได้เปลี่ยนไป เนื่องจากได้มีการปรับเปลี่ยนขบวนอัญเชิญจากการใช้คนแบกเสลี่ยง มาเป็นการวางพระเกี้ยวไว้บนหลังคารถกอล์ฟ แล้วขับไปตามสนามแทน ซึ่งคาดว่ามีเหตุผลสืบเนื่องมาจากกระแสต่อต้าน Beauty Privilage และการหาคนแบกเสลี่ยงในสภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ยาก
งานนี้เลยทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากหลายคนไม่เห็นด้วยที่จุฬาฯ อัญเชิญพระเกี้ยวด้วยรถกอล์ฟ เพราะถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่สง่างาม และทำให้ประเพณีอันทรงคุณค่าของสถาบันถดถอย โดยมีคนอาจารย์ ศิษย์เก่า และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนชาวเน็ตจำนวนมาก ออกมาโพสต์ตำหนิขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว จุฬาฯ ในปีนี้ อาทิ
หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล
“ขอตราพระเกี้ยวยั่งยืนยง ผมไม่ใช่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ได้มีรุ่นลูกรุ่นหลานที่ได้เรียน และจบที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อได้เห็นแล้วก็อดหดหู่หัวใจ แทนนิสิตจุฬาฯ รุ่นพี่ รุ่นปู่ รุ่นย่า รุ่นตา รุ่นยาย ที่ได้เห็นภาพเช่นนี้ พวกท่าน ๆ จะรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ
ผลงานดังกล่าว คือการเทิดทูลพระเกียรติ พระเกี้ยว โดยการตั้งวางไว้บนหลังคารถกอล์ฟ แทนที่จะมีขบวนแห่อย่างสมพระเกียรติ แบบที่ผ่าน ๆ มาหรือนี่มันแค่เป็นการหลู่เกียรติพระเกี้ยวกันแน่”
ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
“อัญเชิญพระเกี้ยวบนหลังคารถกอล์ฟ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ถ้าเช่นนั้นก็ถวายพระนามจุฬาลงกรณ์คืนให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสียเถิด แล้วก็ถวายตราพระเกี้ยวคืนให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไปเสียเถิด
อ้ออย่าลืมถวายคืนที่ดินพระราชทานไปด้วยเลย พระราชทานให้แล้ว นิสิตจุฬาฯ หาได้ภาคภูมิและหาได้ถวายพระเกียรติให้สมกับที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณไม่ น่าอนาถใจ น่าเสียใจยิ่งนัก”
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
“ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง นิสิตจุฬาฯ เห็นภาพนี้แล้วรู้สึกอย่างไร นี่มันคือการเทิดพระเกียรติพระเกี้ยว หรือนี่มันคือหลู่เกียรติพระเกี้ยว หากไม่เต็มใจที่จะเทิดพระเกียรติ ก็ไม่ต้องอัญเชิญพระเกี้ยวออกมา พระเกี้ยวคือของสูง เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศา เป็นเครื่องประดับของพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทาน เนื่องจากพระเกี้ยวเป็นเครื่องสูง
การอัญเชิญจึงต้องใช้เสลี่ยง
ไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือสิทธิเสรีภาพ ไม่รักไม่เคารพก็อย่าหลู่เกียรติ นิสิตจุฬาฯ ทุกคนต้องมีความภาคภูมิใจในสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย หากไม่รักไม่ภูมิใจ อย่าอยู่เลย ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง นิสิตประสงค์เป็นธงชัย ถาวรยศอยู่คู่ไทย เชิดไชย ชโย”
โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา อดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง
“ที่คุณภาพของงานบอลออกมาแย่ขนาดนั้น ส่วนหนึ่งเพราะช่วงล็อกดาวน์โควิดสองสามปีมันไม่มีการส่งต่อความรู้ ความเป็นทีม และวิธีทำงานจากรุ่นสู่รุ่นด้วย การไม่ได้เจอใครเลยตลอดปีการศึกษาทำให้ Team spirit มันหายไป และไม่ได้ฟื้นขึ้นมาได้แบบจตุรมิตรที่เขามีเวลาใช้ชีวิตอยู่ในสถาบันยาวนานกว่าแค่สี่ปี
คิดว่าฟื้นไม่ได้แล้ว เพราะพอมาตรฐานหายไปก็ไม่มีอะไรไว้ส่งต่อ และด้วยวัฒนธรรมปัจจุบันที่ต่างคนต่างอยู่กับตัวเองเป็นหลัก งานแบบนี้ยังไงก็จะค่อยๆ ย่อส่วนลง โควิดเป็นแค่ตัวมาเหยียบคันเร่ง ให้ผู้คนเห็นความแตกต่างชัดจนคนตกใจในความหยาบของผลงาน”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม