เปิดที่มา ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว จุฬาฯ ประเพณีที่สานต่อกันรุ่นสู่รุ่น
เปิดความหมาย ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความภาคภูมิใจที่สานต่อกันรุ่นสู่รุ่น ยาวนานหลายสิบปี
กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้งสำหรับ ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากงานบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เนื่องจากในปีนี้จุฬาฯ ได้เปลี่ยนแนวการอัญเชิญพระเกี้ยว ไปใช้รถกอล์ฟเคลื่อนย้ายแทน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์สนั่นโซเชียล ถึงเรื่องความเหมาะสม
ล่าสุด (2 เม.ษ. 67) เพจเฟซบุ๊ก Chula BAKA ได้ออกมาเคลื่อนไหว ด้วยการโพสต์ความหมายของพระเกี้ยวและประเพณี ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ดังนี้
“พระเกี้ยว เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภาคภูมิใจ สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย
ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬา-ธรรมศาสตร์ 2024 ในครั้งนี้ เหล่านิสิตได้ตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการคัดสรรสัญลักษณ์ ตัวแทนแห่งองค์ความรู้ของศาสตร์แขนงต่างๆ มารายล้อมในขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว อันประกอบไปด้วย
• เข็มฉีดยาและขวดชมพู่ ตัวแทนของ วิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
• หนังสือเล่มหนา ตัวแทนของ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
• ไม้ฉากเรขาคณิต ตัวแทนของ คณิตศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์
• เกียร์ ตัวแทนของ วิศวกรรมศาสตร์
• สเลทฟิล์ม ตัวแทนของ นิเทศศาสตร์
• ดัมเบล ตัวแทนของ วิทยาศาสตร์การกีฬา
• จานสี ตัวแทนแห่งศาสตร์ศิลปะ
สัญลักษณ์เหล่านี้ที่อยู่รายล้อมพระเกี้ยวกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยรถไฟฟ้า เปรียบเสมือนองค์ความรู้ที่อยู่คู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้พัฒนาวงการต่าง ๆ ในประเทศไทยและในระดับโลก ในทุกยุคสมัย ขณะเดียวกันก็ได้กลับมาโอบอุ้มให้มหาวิทยาลัยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแรง สอดรับกับพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย
นอกจากนี้ อีกสิ่งประดับตกแต่งขบวนที่ทุกท่านเห็นได้ก็คือ คือ “อะตอม” ที่สื่อถึงส่วนประกอบเล็กๆ ที่เมื่อรวมกันจะกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เปรียบเสมือนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของนิสิต บัณฑิต และบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมแรงร่วมใจไปสู่การเป็นสถาบันเสาหลักที่ยั่งยืนของประเทศ
อีกทั้งขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในครั้งนี้ ยังถูกตกแต่งด้วยดอกไม้จากพลาสติกที่ใช้แล้ว นำกลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างสอดคล้องกับแนวคิดของงานนั่นคือ Unity to Sustainability และร้อยเรียงเป็น “พวงดอกกล้วยไม้ที่ผลิบาน” ดั่งโบราณว่า “กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น การศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม”
ทั้งนี้ ทางคณะผู้จัดงาน น้อมรับฟังทุกความคิดเห็น และยินดีนำไปปรับปรุงเพื่อพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
- ‘ทูตนอกแถว’ ชี้อย่ายึดติดเรื่อง อัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ สังคมเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา
- ‘เข็มทอง’ ฟาดกลับปมอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ แนะให้คนที่รับไม่ได้มาแบกแทน
- มจ.จุลเจิม หดหู่ใจ นิสิตจุฬาวาง ‘ตราพระเกี้ยว’ บนหลังคารถกอล์ฟ ไม่ใช่ศิษย์เก่า แต่ขอพูด