ศาลพิพากษา “ขนุน สิรภพ” โทษจำคุก 2 ปี จากคดี 112 กรณีการปราศรัยปี 63
เข้าอีกราย ขนุน-สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักศึกษาปริญญาโท อายุ 23 ปี ถูกศาลพิพากษา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
รายงานความคืบหน้าล่าสุดจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2567 เวลา 09:00 นาฬิกา ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักศึกษาปริญญาโท อายุ 23 ปี กรณีการปราศรัยในชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ บริเวณสี่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563
รายละเอียดคำพิพากษาของ ขนุน สิรภพ
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนส่งคำร้องขอประกันระหว่างอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา
สำหรับเหตุในคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 สิรภพและชูเกียรติได้เข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา บริเวณแยกราชประสงค์ ก่อนมีการเดินขบวนไปยังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การชุมนุมดังกล่าวจัดขึ้นภายหลังเจ้าหน้าที่มีการใช้กำลังอย่างการฉีดน้ำความดันสูง สารเคมี และแก๊สน้ำตา เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่จะไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 17 พ.ย. 2563
ในการชุมนุมดังกล่าว ผู้ชุมนุมผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยบนรถบรรทุกติดเครื่องขยายเสียง ระหว่างการเคลื่อนขบวน สิรภพและชูเกียรติถูกกล่าวหาว่าได้ปราศรัยเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 กรณีของสิรภพกล่าวถึงการบทบาทของกษัตริย์ที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยของไทย บทบาทที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การโอนย้ายกองทัพเป็นของส่วนพระองค์ สถานะของประชาชนที่สัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ ส่วนชูเกียรติได้กล่าวเรียกร้องให้กษัตริย์ประพฤติตัวให้ดีขึ้น
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 สิรภพและชูเกียรติได้ถูกพนักงานอัยการสั่งฟ้องทั้งสิ้น 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
คดีนี้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยไปเมื่อวันที่ 6, 30 ก.ย., 27 ธ.ค. 2565, 7 มี.ค., 10 ส.ค., 13, 16 พ.ย. 2566 และ 31 ม.ค. 2567 โดยสิรภพยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ในข้อหาตามมาตรา 112 ฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า สิรภพปราศรัยเกี่ยวกับบทบาทของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และที่ผ่านมาจำเลยก็ถวายความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เฉกเช่นบุคคลทั่วไปกระทำ
ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า สิรภพไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมและจัดมาตรการป้องกันโรค และพื้นที่ชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์เป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก มีห้างสรรพสินค้าและรถไฟฟ้าล้อมรอบซึ่งมีอุปกรณ์คัดกรองโรคที่ผู้ชุมนุมต้องผ่านอยู่แล้ว และไม่ปรากฏว่ามีการระบาดของโรคจากการชุมนุม
หลังศาลมีคำพิพากษา สิรภพได้ฝากข้อความเผยแพร่ต่อสาธารณะว่า “ถึงแม้คำตัดสินจะเป็นเช่นนี้ แต่การเดินทางยังไม่สิ้นสุด” และถูกเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังของศาลในทันที ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ต่อมา ราว 12.30 น. ศาลมีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 2-3 วัน ทำให้ในวันนี้ สิรภพต้องถูกนำตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทำให้ยอดผู้ต้องขังทางการเมืองมีจำนวนรวมถึง 45 คน แล้ว
ข้อกฎหมาย ม.112 จำคุกสูงสุดกี่ปี
สำหรับ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นกฎหมายว่าด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ข้อกฎหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญาที่ได้บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
หากผู้ใดฝ่าฝืนกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประมวลกฎหมายได้ระบุว่า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี โดยไม่มีโทษปรับและการลงโทษอื่น ๆ กล่าวคือ หากกระทำ 1 ครั้ง หรือที่ในทางกฎหมายมักเรียกว่า 1 กรรม
เมื่อศาลพิจารณาเห็นว่า นับเป็นความผิด ทางศาลก็มีดุลพินิจที่จะกำหนดโทษจำคุกได้ความเห็นสมควรภายใต้ขอบเขต 3-15 ปี ทั้งนี้จะพิจารณาจากความร้ายแรงของการกระทำ ความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงสถานะของจำเลย
อ่านข่าวการเมืองที่เกี่ยวข้อง
- กฎหมาย “พักโทษ” คืออะไร หลัง “ทักษิณ” เข้าเกณฑ์ ไม่ต้องติดคุก
- เปิดกฎหมาย ม.112 หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โทษจำคุกสูงสุด 15 ปี
- ด่วน! ศาลสั่งจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา “ครูปรีชา” คดีฟ้องเท็จ
อ้างอิง : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน