เปิดความจริงของคำถามยอดฮิต ทำไมเสียงประกาศบนรถไฟฟ้า BTS กับ MRT ไม่เหมือนกัน เป็นคนละคนกันใช่หรือไม่ และเจ้าของเสียงเป็นใครกันแน่
ทุก ๆ ครั้งที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) และ รถไฟฟ้ามหานคร MRT มักก็จะได้ยินเสียงประกาศชื่อสถานี รวมถึงบอกกฏระเบียบต่าง ๆ ให้ปฎิบัติตาม เมื่อได้ยินบ่อยเข้าก็เริ่มคุ้นชินกับเสียงเหล่านั้นไปเสียแล้ว จนหลาย ๆ คนไม่ทันได้เอะใจว่า เสียงประกาศของรถไฟฟ้า BTS กับรถไฟใต้ดิน MRT นั้นเป็นคนละเสียงกัน!
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ รถไฟที่วิ่งบนสะพานกับรถไฟที่วิ่งใต้ดินเป็นคนละบริษัทกัน นั่นก็หมายความว่าผู้รับผิดชอบการเดินรถ และบริษัทดูระบบเสียงประกาศก็ต่างกันด้วย
รถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย ดำเนินการบริหารงานโดย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
รถไฟฟ้า MRT ตำเนินการบริหารงานหลักโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
เจ้าของเสียงประกาศของ BTS กับ MRT คือใครกัน?
หลังได้รู้เหตุผลที่ทำให้เสียงประกาศของสองรถไฟฟ้าต่างกันแล้ว หลาย ๆ คนก็อาจจะอยากทราบต่อว่า แล้วใครกันนะคือเจ้าของเสียงสุดเพราะเหล่านั้น ทาง Thaiger ได้หาคำตอบมาให้คุณแล้ว
เสียงประกาศของ รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) จะเป็นเสียงของ รัดเกล้า อามระดิษ นักร้องและนักแสดง ผู้มีเสียงเป็นเอกลักษณ์และทรงพลัง ซึ่งจะทำหน้าที่ให้เสียงประกาศทั้งในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีเหลือง และสายสีชมพู
ในขณะที่ แอ้ม สโรชา พรอุดมศักดิ์ ผู้ประกาศข่าวฝีมือดี เป็นผู้ให้เสียงประกาศของ รถไฟฟ้า MRT ที่ทำหน้าที่บอกสถานีและประกาศบอกข้อปฏิบัติต่าง ๆ ในทั้งสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง
ไม่หมดเพียงเท่านั้น ในส่วนของเสียงประกาศภาษาจีนที่มักจะได้ยินเป็นประจำบนรถไฟฟ้า MRT เป็นเสียงของ ปันปัน attentionchinese หรือ เหล่าซือปันปัน ที่เป็นรู้จักกันดีในฐานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาจีน ประจำรายการ “หัวท้ายตายก่อน The First and Last Thailand” ที่ออกอากาศทางช่อง Workpoint TV
สุดท้ายนี้ก็เป็นอันเข้าใจแล้วว่ารถไฟฟ้าทั้งสองเป็นคนละบริษัทกันจึงทำให้มีเสียงประกาศต่างกันไป อย่างไรก็ดี หากวันนี้ผู้อ่านท่านใดมีโอกาสได้เดินทางด้วย รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) และ รถไฟฟ้ามหานคร MRT ก็ลองตั้งใจฟังเสียงประกาศกันดูนะว่าเป็นเสียงของ ‘รัดเกล้า’, ‘แอ้ม’ และ ‘เหล่าซือปันปัน’ จริงหรือไม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) เปิดรับสมัครพนักงาน สายสีชมพู เช็กเงื่อนไขที่นี่
- ประตูรถไฟฟ้าหนีบ อันตรายไหม วิธีขอความช่วยเหลือ หากเกิดอุบัติเหตุ
- 6 ที่พักใกล้ MRT พระราม 9 ติดรถไฟฟ้าใต้ดิน ใจกลางกรุงเทพ