ด่วน! กกต. ยื่นยุบพรรคก้าวไกล ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
วันนี้ 12 มีนาคม 2567 ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค อ้างเชื่อได้ว่ากระทำล้มล้างการปกครอง
กกต. สั่งฟัน พรรคก้าวไกล ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคการเมือง
คืบหน้ากรณี ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายหาเสียงแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่ให้กระทำการดังกล่าวต่อไปอีกในอนาคตนั้น
สบช่องให้นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ปรากฏว่า หลังจากที่กกต.อ่านเอกสารอย่างละเอียด จึงเห็นควรดำเนินการให้ครบถ้วนตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยควรเชื่อได้ว่า พรรคก้วไกลกระทำการล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงขอให้ กกต. ดำเนินการกับพรรคก้าวไกลให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย
สรุปสถานการณ์ตอนนี้คือ กกต.รับคำร้องของผู้ร้องเรียนมาพิจารณา และเห็นชอบให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคต่อไป
ย้อนอ่านคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า พิธา พรรคก้าวไกล สนอแก้ ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครอง
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
อีกทั้งไม่ให้มี การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้น ต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74
โฉมหน้า กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล อนาคตทางการเมืองไม่แน่นอน
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เคยให้ความเห็นว่า “แม้คําวินิจฉัยจะไม่ได้พูดถึงการยุบพรรค แต่สามารถถูกนำไปยื่นต่อ กกต.เพื่อดําเนินการไปสู่การยุบพรรคได้ ซึ่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 (1) ระบุว่า ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าพรรคการเมืองใด กระทำการอันเป็นการล้มล้างการปกครอง ให้กรรมการนั้นร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารในการสมัครรับเลือกตั้ง”
ชะตากรรมของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลในเส้นทางการเมืองแบบเลือกตั้งถือว่าต้องสิ้นสุดลงทันที เพราะ มาตรฐา 94 กำหนดไวว่า ห้ามผู้ซึ่งเคยดํารงตําแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอน สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุดังกล่าว ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหาร พรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกําหนดสิบปีนับแต่วันที่ พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ
ส่วนระยะเวลาสิ้นสุดการตัดสิทธิกี่ปีนั้น ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย จะ 10 ปี 20 ปี หรือตลอดชีวิต
รายชื่อกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลชุดปัจจุบัน ประกอบด้วยดังนี้
1. ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค
2. อภิชาติ ศิริสุนทร เลขาธิการพรรค
3. ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
4. ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
5. สมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหาร
6. อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กรรมการบริหาร
7. เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหาร
8. สุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหาร (สัดส่วนปีกแรงงาน)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดชะตากรรม สส.ก้าวไกล ถ้าถูกยุบพรรค ไปไหนต่อ แพแตกครั้งใหญ่
- ‘ชัยธวัช’ ยอมรับ ลบนโยบายแก้ ม.112 ออกจากเว็บไซต์พรรค
- ‘ภูมิธรรม’ ชี้ “ก้าวไกลยิ่งยุบยิ่งโต” เป็นเพียงวาทกรรม ขออย่าคาดการณ์