ข่าว

เฉลยแล้ว เบียร์แอลกอฮอล์ 0% ถ้าโดนตำรวจจับ เป่าขึ้นไหม?

แพทย์ชื่อดังของเวียดนาม คลายข้อสงสัย ดื่มเบียร์แอลกอฮอล์ 0 เปอร์เซ็นต์ ถ้าโดนตำรวจจับ จะเป่าแล้วเจอแอลกอฮอล์ไหม

คุณหมอ เหงียน ฮุย ฮวาง (Nguyen Huy Hoang) จากศูนย์การแพทย์เวียดนาม-รัสเซีย กระทรวงกลาโหม ระบุว่า แม้เราจะดื่มเบียร์ที่ติดฉลาก 0% แต่ลมหายใจของผู้ดื่มก็ยังอาจมีปริมาณแอลกอฮอล์เจือปนอยู่เล็กน้อย ดังนั้นหากขับรถยนต์แล้วถูกตำรวจเรียกตรวจวัดแอลกอฮอล์ด้วยเครื่องมือเฉพาะทาง ก็ยังมีโอกาสเป่าเป็นค่าบวกและมีความผิดได้

Advertisements

ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาหลังดื่มเบียร์ที่มีแอลกอฮอล 0 เปอร์เซ็นต์ ก็คือการเว้นระยะเวลาสักพัก เพื่อให้ร่างกายขับแอลกอฮอล์ออกจากเลือดและลมหายใจ ก่อนออกไปขับรถ แต่ถึงอย่างนั้นคุณหมอก็ได้กำชับเพิ่มเติมว่า ทางที่ดีและปลอดภัยที่สุดก็คือไม่ดื่มเบียร์เลย แม้จะเป็นเบียร์ 0% ก็ตาม

ทั้งนี้ในปัจจุบันเบียร์มีหลากหลายชนิด ทั้งยังมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่ต่างกัน โดยเบียร์ส่วนใหญ่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 5-8% ในขณะที่บางชนิดมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่า 8-15%

เบียร์ แอลกอฮอล์ 0%

ส่วนเบียร์ 0% หรือที่เรียกกันว่า เบียร์มังสวิรัติ เป็นเบียร์ที่ผ่านกระบวนการกำจัดแอลกอฮอล์ออกเกือบหมด หรือมีการผลิตให้มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

นอกจากนี้ทางผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า เนื่องจากผู้คนทั่วโลกนิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้กำหนดหน่วยแอลกอฮอล์ขึ้น โดยระบุให้ 1 หน่วยแอลกอฮอล์ เทียบเท่ากับ แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 10 กรัม ซึ่งเท่ากับ เบียร์ 200 มิลลิลิตร / ไวน์ 1 แก้ว (75 มิลลิลิตร) / บรั่นดี 1 ช็อต (25 มิลลิลิตร) ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ดื่ม

Advertisements

เบียร์ แอลกอฮอล์ 0% อันตรายไหม

ส่วนขีดความสามารถในการกำจัดแอลกอฮอล์ของมนุษย์ ได้มีการวิจัยค้นพบว่า ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง ตับจะสามารถกำจัดแอลกอฮอล์ได้ 1 หน่วยต่อ 1 ชั่วโมง แต่ความสามารถดังกล่าว ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย เช่น คนที่มีภาวะตับอ่อนแอหรือคนที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าค่าเฉลี่ย ระยะเวลาดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้

นอกจากนี้ ปัจจัยทางสรีรวิทยา อายุ น้ำหนัก หรือกรณีที่มีอาหารอยู่ในกระเพาะอาหารมาก จะส่งผลต่อการดูดซึมแอลกอฮอล์ที่ช้าลง และส่งผลต่อการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายช้าลงด้วยเช่นกัน โดยพบว่ากลไกการกำจัดแอลกอฮอล์ของร่างกาย ประมาณ 10-15% จะถูกขับออกทางระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง และเหงื่อ ส่วนอีกประมาณ 85-90% จะถูกกำจัดผ่านทางตับ.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button