เปิดแชต ผู้ปกครองแห่ Save ครู หลังพ่อเดือด ปมกีฬาสีอนุบาล ให้ลูกสาวแก้ผ้าล่อนจ้อน
เปิดแชตกลุ่มไลน์ผู้ปกครอง หลังคุณพ่อแสดงความคิดเห็น ประเด็นลูกสาววัยกระเตาะ ถูกอุ้มไปแข่งถอดเสื้อผ้า เหลือแต่กางเกงใน กีฬาสีอนุบาล ต่อหน้าสาธารณะชน โดยไม่แจ้งคุณพ่อ แต่ผู้ปกครองคนอื่นแห่ Save ครู ชาวเน็ตอยู่ฝั่งคุณพ่อ
สืบเนื่องจากประเด็นร้อน ครูจับลูกสาว 4 ขวบ ถอดเสื้อผ้าเหลือแต่กางเกงใน เพื่อร่วมแข่งขันใส่เสื้อผ้า ในกีฬาสีโรงเรียนอนุบาล โดยที่ไม่แจ้งให้ผู้ปกครองทราบมาก่อน ท่ามกลางสายตานักเรียน ผู้ปกครอง และคุณครูที่รับชมกีฬาสี ทำให้คุณพ่อรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงไปแจ้งกับผู้อำนวยการ แต่กลับถูกผู้ปกครองของนักเรียนคนอื่นต่อว่า ทั้งยังติดแฮชแท็ก Save ครู ปกป้องครูที่กระทำผิด ทั้ง ๆ ที่ตนมองว่า มันคือสิทธิของผู้ปกครองที่ต้องปกป้องบุตรหลานของตน
หลังจากเกิดประเด็นดังกล่าว คุณพ่อจึงได้แสดงความคิดเห็นเชิงตำหนิ ภายในกรุ๊ปไลน์โรงเรียน ว่าการจับเด็กถอดเสื้อผ้าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เด็กอับอายและเสียหายต่อจิตใจ ควรเคารพความรู้สึกและความสบายใจของเด็กเป็นสำคัญ โดยข้อความมีใจความว่า
“ถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเชิงตำหนิและใช้สิทธิ์ความเป็นพ่อของลูกสาวผู้ถูกกระทำ โดยที่ไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าว่าจะมีกิจกรรมดังกล่าว การจับเด็กถอดเสื้อผ้าบนเวทีเพื่อการแข่งขันใส่เสื้อผ้า แม้จะอยู่ในบริบทของการแข่งขัน ก็ยังคงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และอาจทำให้เด็กได้รับความเสียหายทางจิตใจ การทำเช่นนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกอับอาย ไม่สบายใจ และมีผลกระทบต่อความรู้สึกของตนเองต่อสาธารณะ
สำคัญที่สุดคือความสบายใจ ความปลอดภัย และความเคารพต่อความรู้สึกของเด็ก ควรเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญสูงสุดในทุกสถานการณ์ การเปลี่ยนเสื้อผ้าของเด็กควรเกิดขึ้นในสถานที่ส่วนตัวและปลอดภัย ไม่ใช่ต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก
ถ้ามีการจัดกิจกรรมหรือการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ผู้จัดควรมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อปกป้องสิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก พร่ำสอนลูกเรื่องการแต่งตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ให้ลูกเดินโป๊ออกมาหน้าบ้าน ปลูกฝังความเคารพสิทธิของตัวเอง รู้สึกเหมือนสูญเปล่า และขัดแย้งลงในงานวันนี้”
แต่หลังจากที่คุณพ่อส่งข้อความดังกล่าวไป กลับมีผู้ปกครองคนอื่น ๆ ออกมาปกป้องครู ด้วยข้อความต่าง ๆ อาทิ “#Saveคุณครู สู้ ๆ นะคะคุณครู” “ผมเห็นด้วยครับ สู้ ๆ นะครับคุณครู” ทั้งยังมีผู้ปกครองคนหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงเข้าข้างครู ว่าครูได้แจ้งคุณแม่เรียบร้อยแล้ว แต่คุณแม่ยังไม่โต จึงขาดการตัดสินใจ ตนมองว่าเป็นกิจกรรมสนุกสนาน และครูก็ขอโทษแล้วก็ควรจะจบ การให้ครูขอโทษนักเรียน ตนมองว่ามากเกินไป โดยแชทดังกล่าวมีใจความว่า
“คุณครูได้แจ้งคุณแม่ของเด็กแล้ว คุณแม่รับรู้และโอเคในตอนนั้น ถ้าคุณพ่อไม่โอเค ก็ควรไปคุยกันในครอบครัวก่อนแล้วค่อยมาลงที่ครู ลูกโตแล้วแต่คุณแม่ยังไม่โต ขาดการตัดสินใจ คุณพ่อควรจะคุยและดูแลคุณแม่ให้เข้าใจกฎระเบียบของบ้านให้ชัดเจน จะได้ไม่เดือดร้อนคนอื่น อีกอย่างมันคือกิจกรรมสนุกสนาน ไม่ได้มีเจตนาลงโทษหรือกลั่นแกล้งให้อับอาย และคุณครูก็กล่าวขอโทษและน้อมรับความผิดพลาดที่ไม่ได้เจตนา ก็ควรจะจบ การที่ต้องให้ครูไปขอโทษเด็กเป็นการส่วนตัวถือว่าเกินไป”
คุณพ่อคนดังกล่าว จึงตอบกลับแชทดังกล่าวไปว่า “ไม่ได้แจ้งนะครับ ครูอุ้มเด็กขึ้นไปแทนเด็กคนอื่นที่หาตัวไม่เจอ ถ้าไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรเข้ามายุ่งนะครับ” ทั้งยังตอบกลับประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าคุณแม่ยังไม่โตว่า “อะไรคือคุณแม่ยังไม่โต คุณเอาอะไรมากล่าวหาในจุดนี้ครับ” ผู้ปกครองที่แสดงความเห็นต่อคุณพ่อ จึงตอบกลับว่า “ถ้าไม่อยากให้ใครแสดงความคิดเห็น ก็ส่งเข้าไลน์ส่วนตัวคุณครูสิคะ ทุกคนในกลุ่มนี้สามารถส่งข้อความส่วนตัวถึงคุณครูผู้ดูแลได้”
คุณพ่อจึงตอบกลับข้อความด้านบนว่า “ข้อความที่กล่าวมานั้น คุณคงมีความสนิทสนมส่วนตัวใช่ไหมครับ ถึงได้ทราบว่าเรื่องมันไปถึงไหนแล้ว” และตอบกลับข้อความในประเด็นเรื่องไม่อยากให้ใครแสดงความคิดเห็นว่า “แสดงความคิดเห็นได้ครับ แต่ไม่ควรพูดพาดพิงอะไรไปยังผู้ปกครอง โดยที่คุณกล่าวถึงวุฒิภาวะต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมานั้น”
หลังจากประเด็นดังกล่าวเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ ชาวเน็ตจึงได้แห่แสดงความคิดเห็นให้กำลังใจคุณพ่อ พร้อมทั้งมองว่า การกระทำของคุณพ่อเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว อาทิ “คุณพ่อทำถูกต้องแล้วค่ะการปกป้องลูกในทางที่ถูกที่ควรและเหมาะสมพึงกระทำค่ะ” “ทีมคุณพ่อค่ะ เด็กเเค่ไหนก็ไม่ควรทำแบบนี้กับเด็กค่ะ” “ทีมพ่อค่ะ กิจกรรมสร้างสรรค์มีอีกเยอะมาก” “คุณพ่อมีวุฒิภาวะมากค่ะ ใช้คำพูดได้ดีมาก #SAVEคุณพ่อค่ะ”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- พ่อเดือด รร.อนุบาล แข่งกีฬาสี ครูจับลูกสาวแก้ผ้าล่อนจ้อน งง บ้านอื่นกลับเข้าข้างครู
- ครูอนุบาลเตือน ลูกสาว “ใส่กระโปรง” ไปโรงเรียน ‘อันตราย’ แนะพ่อแม่เปลี่ยนใจตอนนี้ยังทัน
- พ่อแม่ฟัง อาจารย์เจษฎ์ แจง ดราม่าเด็กเขียนลายมือหวัด ๆ ส่งครู อาจเสี่ยงโรค LD