เตือนภัย “กระดาษเมา” อันตรายร้ายแรง หลอนประสาท อาจเป็นสาเหตุฆ่าตัวตาย
กรมการแพทย์โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนภัย กระดาษเมา กระดาษมหัศจรรย์ หรือ แสตมป์มรณะ อันตราย ออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กระดาษเมา สติกเกอร์เมา กระดาษมหัศจรรย์ หรือ แสตมป์มรณะ คือการนำสารแอลเอสดี (LSD) ยาเสพติดประเภทที่ 1 ออกฤทธิ์หลอนประสาท มาหยดลงกระดาษที่มีคุณสมบัติดูดซับ (blotter paper) พร้อมทั้งมีลวดลายสีสันที่สวยงาม จากนั้นจึงแบ่งออกเป็นสีเหลี่ยมเล็ก ๆ ลักษณะคล้ายสแตมป์
ผู้เสพมักนำเอามาอมไว้ใต้ลิ้น โดยจะออกฤทธิ์ภายใน 30 – 90 นาที และออกฤทธิ์นานถึง 8 – 12 ชั่วโมง สารแอลเอสดีจะซึมออกจากกระดาษ ทำให้ผู้เสพรูม่านตาขยาย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตสูง และอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น เหงื่อออก นอนไม่หลับ ปากแห้ง ตัวสั่นและเบื่ออาหาร
อาการของผู้เสพสารแอลเอสดีในระยะแรก จะมึนศีรษะ เห็นแสงวูบวาบ เคลิ้มสุข ต่อมาจะเกิดอาการหลอนประสาทอย่างรุนแรง เห็นภาพหลอน หูแว่ว ประสาทการรับภาพและสีผิดเพี้ยน เห็นภาพทรงจำในอดีต เกิดอาการหวาดกลัว บางรายอาจทำร้ายตนเอง หรือทำรายผู้อื่น และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า การเสพสารแอลเอสดีนั้น จะทำให้ผู้เสพมีปัญหาด้านการรับรู้ การคิด และการตัดสินใจ อาจเป็นสาเหตุในการเกิดความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น อาทิ อุบัติเหตุบนท้องถนน การทำร้ายตนเองและผู้อื่น หากเสพเกิดขนาด อาจก่อให้เกิดปัญหาทางจิตเรื้อรัง เช่น โรคจิตเภท และโรคซึมเศร้า
อีกทั้งอาจเกิดอาการหวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน แม้จะเลิกใช้ยาแล้ว แต่อาการโรคจิตอาจเกิดซ้ำได้อีก การรักษาอาการดังกล่าวนั้นทำได้ยาก และต้องใช้เวลานานกว่าอาการจะทุเลาลง จึงฝากย้ำเตือนกลุ่มวัยรุ่นและนักท่องเที่ยว นิยมทดลองสารเสพติดแปลกใหม่ ให้ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเองให้มาก และพึงระลึกไว้เสมอว่าการใช้ยาเสพติดทุกชนิดมีความอันตราย ส่งผลต่อร่างกายของผู้เสพ เป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงและอาชญากรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาสุราและยาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานีและโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ประเภทยาเสพติด มียาอะไรบ้าง พร้อมลักษณะการออกฤทธิ์
- รวบ หนุ่มค้ายาเสพติด ออกโปร 5 เม็ด แถม 1 เม็ด เม็ดละ 20 บาท
- สาวถามชาวเน็ต จำคุกตลอดชีวิต คดียาเสพติด ติดจริงกี่ปี อยู่จนแก่ไหม