‘รังสิมันต์’ โอด ‘ก้าวไกล’ ถูกปรักปรำ ยืนยันไม่ได้อยู่เบื้องหลังใคร
รังสิมันต์ โรม ชี้ ก้าวไกล ถูกปรักปรำ ยืนยันไม่ได้อยู่เบื้องหลังใคร เผยไม่ใช่เรื่องใหม่ โดนมาแล้วหลายครั้ง ถามกลับอะไรคือหลักฐาน
นาย รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ ตะวัน บีบแตรขบวนเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในขณะที่ขบวนกำลังแล่นผ่านทางด่วน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ตามที่มีรายงานไปก่อนหน้านี้นั้น
โดยนายรังสิมันต์ระบุว่า ความคิดว่ากลุ่มต่าง ๆ ที่ระบุว่ามีฝ่ายการเมืองอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่การเกิดขึ้นในลักษณะนี้ทำให้เราแก้ปัญหาสังคม หรือปัญหาในทางการเมืองได้หรือไม่ หลายครั้งที่พรรคก้าวไกลถูกปรักปรำ แต่อะไรคือหลักฐาน
ท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลอาจไปเป็นนายประกันให้ ต้องแยกการไปเป็นนายประกันออกจากการขับเคลื่อนการเมือง เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฏหมาย เป็นการให้สิทธิต่อสู้ทางคดี ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการไปนายประกัน จะเห็นด้วยกับการกระทำของคนเหล่านั้น
ทั้งนี้ ตนเองเข้าใจถึงการเชื่อมโยงพรรคก้าวไกลกับคนต่าง ๆ อาจเป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวัง ต้องการดิสเครดิตกลุ่มทะลุวัง และต้องการทำลายพรรคก้าวไกล
“พรรคก้าวไกลไม่ได้อยู่เบื้องหลังใคร และใครก็ไม่ได้อยู่เบื้องหลังเรา พรรคก้าวไกลคือพรรคก้าวไกลที่ทำหน้าที่ตามสิทธิมนุษย์ชน เชื่อในเสรีภาพการแสดงออก ส่วนมากเมื่อแสดงออกมาแล้วจะมีคนเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย เป็นสิทธิของแต่ละคน พรรคก้าวไกลมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง เพราะเป็นการสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัว ซึ่งเรามีบทเรียนมาแล้ว”
นายรังสิมันต์ ยอมรับว่า การกระทำของนางสาวทานตะวัน สร้างเสียงวิจารณ์ คงจะสรุปยากว่า สังคมเห็นไปในทิศทางใด เพราะมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ การอารักขาบุคคลสำคัญก็ต้องมีมาตรการเช่นกัน
ส่วนกรณีการมุ่งเป้ามาที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ครั้งแรก พรรคก้าวไกลพยายามให้สติกับทุกคน การที่เราไปเป็นนายประกันหรือเคยเป็นนายประกันในอดีต ไม่เท่ากับว่าเราอยู่เบื้องหลัง การแสดงออกทางการเมืองก็ถือเป็นจุดยืนของแต่ละคน การจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต้องแยกเป็นกรณี ท้ายที่สุดทุกคนมีสิทธิที่จะต่อสู้ในศาล ว่าไปตามกระบวนการกฎหมายที่ควรจะเป็น
“ขออย่าสร้างสังคมแห่งความหวาดกลัว อย่าสร้างปีศาจตนใหม่ขึ้นมา เหตุการณ์เดือนตุลาเคยสร้างบทเรียนให้เราแล้ว อย่าทำซ้ำ ไม่คุ้มกัน เรากลับมาใช้เวทีสภาฯ ในการคลี่คลายหาทางออกจะดีกว่าหรือไม่”
ส่วนที่นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงร่างญัตติด่วนทบทวนมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯลฯ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะสภาฯ จะพิจารณาทางออกผ่านการพูดคุย ไม่ใช่การพูดคุยผ่านท้องถนน สร้างพื้นที่อันตรายก็คงไม่คุ้ม
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า หนทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งคือการนิรโทษกรรม ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาแล้ว ขอให้มาพูดคุยกันตรงนี้ อย่าใช้ความรุนแรง ส่วนกรณีที่ สว.ขอให้พรรคก้าวไกลหยุดเคลื่อนไหวมาตรา 112 และการนิรโทษกรรม มาตรา 112 พรรคก้าวไกล ถือเป็นพรรคการเมืองที่ได้หาเสียงกับประชาชนไว้ เราไม่ได้มีแค่นโยบาย 112 แต่มีแนวนโยบายอีกจำนวนมาก ทั้งหมดถือเป็นแนวคิดของ สว.ถ้าเราต้องจบปัญหา ควรจะเปิดประตูให้กว้างที่สุด การบอกว่านิรโทษกรรมแก้ปัญหาทางการเมืองได้นั้น เป็นจริงหรือไม่