เตือนภัย “ลูกอมสายตี้” ผสมสารเสพติดหลายชนิด อันตรายถึงชีวิต
ให้ระวัง กรมการแพทย์ เตือนภัย ลูกอมสายตี้ มีส่วนผสมของยาเสพติดหลายชนิด กำลังเป็นที่นิยมในนักท่องราตรี ชี้ อันตรายออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท อาจส่งผลร้ายแรงถึงเสียชีวิต
สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ ออกโรงเตือน ลูกอมสายตี้ หรือ ลูกอมเมา ทำจากส่วนผสมสารเสพติดหลากชนิด ออกฤทธิ์โดยตรงกับจิตและประสาท หากใช้คู่กับการดื่มแอลกอฮอล์ อาจอันตรายร้ายแรงถึงขั้นหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สำหรับลูกอมดังกล่าว กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่นและนักท่องราตรี ซึ่งผลิตจากสารเสพติดหลายชนิดมาผสม อาทิ เคตามีน ทรามาดอล สารไนเมตาซีแพม สารฟลูไนตราซีแพม ไฮโดรคลอไรด์ หรือ ยาที่ออกฤทธิ์จิตและประสาทมาผสมกัน และนำมาจัดจำหน่ายในรูปแบบลูกอมหรืออมยิ้ม ซึ่งได้ลักลอบจำหน่ายทางโซเชียลมีเดีย รวมทั้งในสถานบันเทิงต่าง ๆ
เมื่อรับประทานลูกอมสายตี้เข้าไป จะออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในหลายรูปแบบ อาทิ กระตุ้นประสาท หลอนประสาท และกดประสาท แล้วแต่ส่วนผสมในลูกอม ซึ่งจะทำให้เคลิบเคลิ้ม สนุกสนาน ตื่นตัว คึกคัก จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวกลางคืน รวมทั้งกลุ่มผู้ชื่นชอบปาร์ตี้ในพื้นที่ส่วนบุคคล ทั้งชาวไทยและต่างชาติ และมีแนวโน้มจะแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก เนื่องจากการใช้สารเสพติดหลายชนิดพร้อมกัน ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ อาจส่งผลให้ระบบหัวใจล้มเหลวจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ด้าน นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ได้ย้ำเตือนด้วยว่า ขอให้ผู้ริลองลูกอมสายตี้ ให้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองในอนาคต และระลึกอยู่เสมอว่ายาเสพติดทุกชนิดเป็นอันตราย ส่งผลโดยตรงต่อร่างกายผู้เสพ เป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดความรุนแรงและอาชญากรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
จึงขอฝากผู้ปกครองให้ระมัดระวัง ในการเลือกซื้ออมยิ้มหรือลูกอมให้แก่บุตรหลาน ควรเลือกซื้อในแหล่งที่ไว้ใจด้าย การนำลูกอมสายตี้ หรือ ลูกอมเมา ให้บุตรหลานรับประทานโดยไม่รู้ตัว อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ทั้งหมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานหรือคนในครอบครัว หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใช้เงินสั่งของออนไลน์มากผิดปกติ หรือพบของต้องสงสัย ให้รีบพูดคุยและตักเตือนโดยเร็ว
สามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาสุราและยาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อดีตสาวงามโบลิเวีย เจอคุกหลังเอี่ยวคดียาเสพติด บุกห้องพักเจอปืนกว่า 100 กระบอก
- กู้ชีพเกือบไม่รอด ญาติปิดข้อมูลผู้ป่วยคลั่งยาเสพติด ใช้เลื่อยยนต์สับรถพยาบาลยับ
- ประเภทยาเสพติด มียาอะไรบ้าง พร้อมลักษณะการออกฤทธิ์