ข่าว

อ.เจษฎา โพสต์เตือน “ด่างทับทิม” กินไม่ได้ อันตรายหนัก หลังมีไวรัลแนะให้กิน

อ.เจษฎา โพสต์ยืนยัน “ด่างทับทิม” กินไม่ได้ เพราะอาจระคายเคืองและแพ้หนัก เผยด่างทับทิมไม่มีในส่วนผสมน้ำยาอุทัยทิพย์ เตือนชาวเน็ตที่ยังเชื่อคลิปดัง กินด่างทับทิมเพราะลดความเป็นกรด ไม่เป็นจริง

จากกรณีคลิปไวรัลดังที่ชาวเน็ตกำลังให้ความสนใจ เมื่อ TikTok ช่องหนึ่ง โพสต์คลิปให้ความรู้ในประเด็น กินด่างทับทิมเป็นอันตรายไหม โดยได้อธิบายว่า หากดื่มให้เกิดผลดีจะอยู่ที่ปริมาณ ไม่ควรดื่มเป็นขวด ๆ แต่สามารถกินน้ำด่างหรือน้ำยาอุทัยได้ เพราะร่างกายจะมีค่าพีเอช ค่ากรด-เบส เซลล์มะเร็งชอบความเป็นกรด ถ้ากินน้ำตาลเยอะ ๆ เลือดจะเป็นกรด มะเร็งจะเติบโต จึงให้กินน้ำด่าง ลดความเป็นกรด

ล่าสุด (30 มกราคม 2567) หลังคลิปดังกล่าวกลายเป็นไวรัลที่ชาวเน็ตให้ความสนใจและนำไปทำตาม ทางด้าน อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้โพสต์ข้อความชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant โดยได้อธิบายว่า ด่างทับทิม กินไม่ได้ เป็นอันตราย และ น้ำยาอุทัยก็ไม่ได้ทำจากด่างทับทิม ไม่ว่าจะรับประทานปริมาณเท่าใดก็สามารถทำให้ระคายเคืองและก่อให้เกิดการแพ้ได้

“มาอีกแล้วครับท่านผู้ชม คลิปป๋าให้ความรู้แบบผิด ๆ คลิปที่เท่าไหร่แล้วเนี่ย ความนี้มากับคำถามที่ว่า “กินด่างทับทิม อันตรายไหม ?” ซึ่งป๋าเค้าอธิบายประมาณว่า “มันอยู่ที่ปริมาณ ดื่มเป็นขวด ๆ ไม่ได้ แต่กินน้ำด่างหรือน้ำยาอุทัยสมัยก่อนได้

ที่ตอนโรงเรียนสมัยก่อน เขาจะใส่ด่างทับทิมลงไปผสมน้ำเป็นสีชมพูนิด ๆ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะร่างกายคนเรามันมีค่าพีเอช ค่ากรด-เบส เซลล์มะเร็งชอบความเป็นกรด ถ้ากินน้ำตาลเยอะ ๆ เลือดจะเป็นกรด มะเร็งจะเติบโต เขาจึงให้กินน้ำด่าง ใช้เครื่องทำน้ำด่าง ให้เลือดลดความเป็นกรด ให้พีเอชสูงขึัน …” !?

เดี๋ยวครับ เดี๋ยว … น้ำยาอุทัยทิพย์ ที่เอามาผสมน้ำดื่มเนี่ย ไม่ได้ทำจากด่างทับทิมนะครับ แต่เป็นยาแผนโบราณ ที่มีส่วนประกอบเป็นสมุนไพรต่างๆ ซึ่งมีสรรพคุณไปทางด้านการลดอาการร้อนใน โดยมี “ฝาง” เป็นส่วนประกอบหลักของน้ำยาอุทัย และทำให้น้ำยาอุทัยเป็นสีแดง ฝางช่วยบำรุงโลหิต ช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ … นอกจากนั้นก็มี ดอกพิกุล , ดอกมะลิ , หญ้าฝรั่น , ดอกสารภี , ดอกบุนนาค , ดอกคำฝอย , ดอกเก็กฮวย , เกสรบัวหลวง , อบเชย , กฤษณา , จันทน์แดง , โกศหัวบัว , โกศเขมา , โกศสอ , โกศเชียง …. ไม่ปรากฏว่ามีการใส่ “ด่างทับทิม” เข้าไปแต่ประการใดครับ ! (จาก sanook)

อ.เจษฎา โพสต์เตือน ห้ามกิน "ด่างทับทิม" อันตรายหนัก หลังมีไวรัลแนะให้กิน

ส่วนด่างทับทิม หรือ โพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต (Potassium permanganate – สูตรทางเคมี : KMnO4) เป็นสารเคมีประเภทอนินทรีย์ มีลักษณะเป็นผลึกหรือเกล็ดสีม่วง สามารถละลายน้ำได้ดี ได้สารละลายสีม่วงหรือสีชมพูอมม่วง มีฤทธิ์เป็นด่างอ่อนๆ จริง และเอามาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างจริง แต่ก็มีอันตราย เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นสารออกซิเดชัน (oxidation) อย่างรุนแรง !! ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่นำมาบริโภค รับประทานครับ

  • ห้ามดื่ม ชิม จิบ หรือทาน ด่างทับทิม ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ๆ เพราะอาจเกิดอาการระคายเคือง หรือแพ้ได้
  • หากด่างทับทิมเข้าปาก ต้องรีบบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง และห้ามทำให้อาเจียนเด็ดขา
  • ถ้าน้ำด่างทับทิมกระเด็นเข้าตาจะทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุตา ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง
  • แม้แต่ด่างทับทิมที่ละลายน้ำแล้ว แต่ในปริมาณมาก จนเข้มข้นมากเกินไป ก็อาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้ จึงไม่ควรนำมาใช้กับผิวหนังโดยเด็ดขาด เพราะอาจระคายเคืองกับเนื้อเยื่อ และทำลายเซลล์ผิวหนัง จนมีอาการแสบ คัน เกิดรอยด่าง หรือผิวแห้งเป็นขุยได้

ส่วนประโยชน์ของด่างทับทิมที่นิยมนำมาใช้ในครัวเรือนได้ คือเอามาทำเป็นยาฆ่าเชื้อโรค เชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ในผักผลไม้ โดยนำมาผสมกับน้ำเพียงเล็กน้อย (ใช้ประมาณ 4-5 เกล็ด ผสมกับน้ำประมาณ 4-5 ลิตร) แล้วแช่ผักผลไม้ แต่ต้องล้างออกให้สะอาด ไม่นำน้ำนั้นไปใช้ในการดื่มกิน”

นอกจากนั้นยังได้อธิบายทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า อย่าเอาด่างทับทิมไปละลายน้ำเพื่อดื่มกิน ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำยาอุทัยทิพย์ เพราะถือเป็นอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งความเชื่อเรื่องการกินน้ำด่าง อาหารด่าง เพื่อให้เลือดของเรากลายเป็นด่างก็เป็นความเชื่อผิด เพราะความจริงค่าพีเอชกรด-ด่างของเลือดค่อนข้างคงที่ และจะถูกควบคุมด้วยระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ผ่านการหายใจเข้าออก ไม่ใช่จากการกินอาหาร การดื่มน้ำที่จะเข้าไปเปลี่ยนค่าพีเอช

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button