“น้ำยาล้างจาน ผสมน้ำแช่ปลา” ทำได้ไหม หลังคนเลี้ยง-คนกินเถียงกันวุ่น
ถึงมือ อาจารย์เจษฎ์ หลังโซเชียลแห่แชร์คลิปหนุ่มเอาน้ำยาล้างจาน ผสมน้ำแช่ปลา อ้างสูตรสกัดจากธรรมชาติจนชาวเน็ตเสียงแตกสงสัยกันสนั่น ตกลงกินได้ไหม
เล่นเอาคาใจกันจนระส่ำ หลังจากเกิดกรณี แอคเคาต์บัญชีเอ็กซ์ @RedSkullxxx ออกมาเปิดเผยคลิปของชายคนหนึ่งขณะกำลังยืนถือถุงน้ำยาล้างจานยี่ห้อดัง ผสมน้ำลงในกระบะแช่ปลาที่คล้ายเตรียมจะนำไปส่งต่อให้กับผู้บริโภค โดยประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันสั่นนั้นก็เกิดจากปมสงสัยว่า น้ำยาล้างจานแบบนี้เอาไปเทใส่ในถังแช่ปลา จะเสี่ยงต่อสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ หากมีการนำปลาที่แช่ด้วยนำยาดังกล่าวไปประกอบอาหาร โดยสาเหตุที่ทำแบบนี้เพราะเชื่อว่าทำให้ “น้ำเกิดฟอง” แล้วปลาจะมีอากาศและไม่น็อคน้ำหรือเป็นโรคน้ำหนีบ
จากข้อมูลที่ Red Skull ระบุไว้ ปรากฎว่า ต่อมาบรรดาโลกโซเชียลต่างมองกันต่างมุม บางคนเข้าใจว่าน้ำยาล้างจานเป็นสูตรจากธรรมชาติแถมยังใช้ล้างจานด้วย จึงน่าจะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง
ขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็แย้งว่า ต่อให้ใช้ล้างจาน ขั้นตอนสุดท้ายก็ยังต้องนำไปล้างน้ำเปล่าอีกที
สุดท้ายเรื่องนี้ ร้อนถึงมือ รศ. ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ตัวเอ้ ได้ออกมายืนยันแล้วว่า เรื่องนี้ไม่ขอสนับสนุน เพราะแม้จะอ้างว่าน้ำยานั้นเป็นสูตรสกัดจากธรรมชาติ แต่ น้ำยาล้างจาน ซึ่งมีหลายสูตรผสมแต่ก็เป็นสารเคมีที่ใช้ทำครัวเรือน
อีกทั้งองค์ประกอบส่วนใหญ่ของน้ำยาล้างจาน ยังเป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิว ทำให้คราบไขมันคราบสกปรกหลุดออกจากจานชามได้ง่ายขึ้น และไม่ได้จัดว่าเป็นอาหารสำหรับการบริโภคแต่อย่างไร แม้จะเรียกว่าเป็นแบบ food grade ก็ตาม (ซึ่งหมายถึงใช้กับภาชนะใส่อาหารได้ แต่ไม่ได้แปลว่า ให้เอามากินโดยตรง)
อ. เจษฎ์ ยังบอกด้วยว่า การเผลอกินน้ำยาล้างจานเข้าไปโดยตรง นั้นนับว่าเป็นเรื่องอันตราย เพราะสารเคมีในน้ำยาจะทำให้เกิดความระคายเคืองสูง ทั้งจากการที่มันเป็นสารซักล้างและความที่มันมีค่า pH เป็นด่าง ทำให้ระบบทางเดินอาหารเกิดการระคายเคือง เกิดอาการปวดท้องคลื่นไส้อาเจียนได้ โดยขึ้นอยู่กับปริมาณของสารที่กินเข้าไป และความเข้มข้นของสูตรน้ำยาที่ใช้ด้วย
แม้บางรายจะอ้างเรื่องที่ในต่างประเทศมีคนใช้น้ำยาล้างจานกัน “แบบล้างแล้วไม่ล้างน้ำเปล่าออก” นำไปคว่ำตากแห้งเลยก็ตาม แต่ในด้านของบริษัทผู้ผลิตนั้น ก็จะมีการระบุเตือนว่า จริงๆ แล้วควรจะล้างด้วยน้ำเปล่าออกให้หมด ไม่ควรทิ้งให้เป็นคราบไว้ ซึ่งอาจมีผลต่อร่างกายได้
ดังนั้น การนำเอาน้ำยาล้างจานไปผสมกับน้ำที่ใช้แช่ปลานั้น แม้จะมีไม่มาก (ขึ้นกับปริมาณและความเข้มข้นของน้ำยาที่ใส่ลงไป) ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ ไม่ใช่แนวปฏิบัติที่ถูกต้องในการใช้น้ำยา และน้ำยาเองก็ไม่ได้แค่เคลือบผิวของตัวปลา แต่จะสามารถเข้าปากปลาไปอยู่ในร่างกายของปลาได้ด้วย
ส่วนเรื่องที่บอกว่าทำให้เกิดฟองน้ำยาขึ้น แล้วจะกักอากาศไว้ได้นั้น อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชื่ดังก็ระบุชัดเจนว่า ไม่น่าจะได้มากอย่างที่เข้าใจกัน และน่าจะเป็นความเชื่อตามกันเสียมากกว่า โดยตอนท้ายยังเสนอให้ใช้เครื่องปั๊มอากาศลงไปในน้ำแทน น่าจะได้ประโยชน์โดยตรงมากกว่าด้วย.