คดีหุ้นสื่อ ‘พิธา’ ชี้ชะตาคืนเก้าอี้ สส. ทำไมหลายเสียงฟันธง โอกาสรอดสูง
ตัดสินคดีหุ้นสื่อ ITV ชี้ชะตาการเมือง พิธา พรรคก้าวไกล นักวิเคราะห์มองโอกาสรอดมากกว่าร่วง ถ้าใช้บรรทัดฐานเดียวกับคดีฝ่ายรัฐบาลเคยเจอ ผลวินิจฉัยวันนี้รู้แน่ ไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่
จากกรณีที่วันนี้ (24 ม.ค.67) ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการอ่านผลคำวินิจฉัย คดีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลครอบงำสื่อจริงหรือไม่ หลังจากถูกสั่งระงับการทำหน้าที่สมาชิกสถาผู้แทนราษฎร์ (สส.) ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.2566 นับแต่วันที่ศาลมีมติรับคำร้องคดีถือหุ้นไอทีวี ไว้พิจารณา
ก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกล เคยอัดคลิปเปิดข้อมูลคดีหุ้นสื่อ พร้อมกับตั้งคำถามว่า ทำไมพิธาจะได้กลับเข้าสภา 24 มกราคมนี้ โดยประเด็นหลัก ๆ มีอยู่ 6 ข้อด้วยกันที่ทาง ก.ก. อ้างว่า จะทำให้อดีตหัวหน้าพรรควัย 48 ปี รอดพ้นจากการถูกศาลรธน. สั่งฟันเอาผิดในข้อหาดังกล่าวที่จะมีการอ่านคำวินิจฉัยวันนี้ ในเวลาบ่าย 2 โมงตรง
6 ข้อที่ ก้าวไกล ระบุ ทำไม พิธา ได้กลับเข้าสภา 24 ม.ค.นี้
1. ITV ไม่ใช่สื่อ
2. ไม่มีใบอนุญาตคลื่นความถี่ ภายหลังมีการออก พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ก่อให้เกิดสถานี Thai PBS ส่งผลให้ ITV ต้องเลิกประกอบกิจการโทรทัศน์ แถมยังมีคดีพิพาทเกี่ยวกับค่าเสียหายในศาลปกครองกับทางรัฐบาลไทยด้วย
3. ITV ไม่มีใบอนุญาต โดย คิมห์ สิริทวีชัย ประธานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ยืนยันต่อศาลว่า ไอทีวีไม่มีพนักงาน ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ ไม่มีการทำสื่อและยังไม่มีแผนจะทำสื่อ และถ้ายึดตามคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ หากไม่มีรายได้จากการทำสื่อ ก็ไม่ถือเป็นสื่อ
4. ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ
5. พิธา ถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก
6. ถ้าพิธาถือหุ้นจริงๆ ก็ถือเพียง 0.00348% ศาลปกครองสูงสุดเคยชี้ว่า ไอทีวี ไม่ปรากฏหลักฐานการดำเนินการสื่อวิทยุโทรทัศน์แล้ว หรือต่อให้สมมติว่าเป็นสื่อมวลชนจริง พิธา ก็มีหลักฐานว่า ไม่ได้ครอบครองหุ้นตั้งแต่วันที่สมัคร สส. คือ ตั้งแต่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ตอนที่เข้าเป็น สส. ในปี 2562 พิธา แจ้งชัดเจนว่า ถือหุ้นนี้เพียงในฐานะผู้จัดการมรดกของบิดาที่เสียชีวิตไป
หรือต่อให้ศาลมองว่าเป็นการถือหุ้นสื่อจริง แต่ก็มีสัดส่วนเพียง 0.00348% เท่านั้น ไม่สามารถครอบงำสั่งการให้ทำการใด ๆ หรือไม่ทำการใด ๆ ได้
อ.ปริญญา วิเคราะห์ ถ้าบรรทัดฐานเดียวกัน “พิธา” ต้องรอด
ประเด็นทิศทางการอ่านผลคำวินิจฉัยในคดีหุ้นสื่อไอทีวีของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือว่าหลายฝ่ายจับมามองกันอย่างใกล้ชิด โดยก่อนจะมีการอ่านคำวินิจฉัยในเวลา 14.00 น. บนสื่อโซเชียลก็มีการออกมาตั้งคำถามถึงโอกาสรอด-ร่วง เช่นเดีนยวกับกลุ่มนักวิชาการหลายคน ที่ออกมาวิจารณ์เรื่องนี้
อาทิ อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ให้สัมภาษณ์รายการเปิดปากกับภาคภูมิ วานนี้ (23 ม.ค.) ระบุ กรณีของพิธา หากเปรียบเทียบกับเคสที่คล้าย ๆ กัน แต่ตอนนั้นเป็นฝ่าย สส.ของรัฐบาลที่เจอข้อหาเดียวกัน สุดท้ายศาลยกคำร้องทั้งหมด
อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวโดยยกข้อมูลหลังการตรวจสอบนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น คำชี้แจงจริง ๆ คือไม่ได้มีดเจตนาจะสื่อสารว่าไอทีวีเป็นสื่ออยู่ แล้วก็มีวัตถุประสงค์ตามที่จดทะเบียนการค้าไว้ ซึ่งก็เป็นเอกสารไอทีวีเองที่ชี้แจงออกมา สรุป ที่บอกว่ายังดำเนินกิจการอยู่ก็เป็นอันจบไป
ฉะนั้นถามว่า ไอทีวียังเป็นสื่ออยู่ไหม ในเมื่อชี้แจงแล้วว่าไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพราะไม่ทำมา 16 ปี ตัวคลื่นคืนไปแล้วเป็นของไทยพีบีเอส และหากยึดตามคำชี้แจงของประธานในการประชุมผู้ถือหุ้นฯ ก็คือ “ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ”
อย่างไรก็ดี อ.ปริญญา ตั้งข้อสังเกตต้องจับตาเรื่องที่มีรายงานงบการเงินไตรมาสแรก มีการระบุว่า “ไอทีวี” มีการทำสื่อโฆษณา แต่ไม่มีรายงานตัวเลขรายได้ และตรงนี้เองเป็นเหตุผลให้ผู้ถูกร้อง คือ นายพิธา ได้เชิญ คิมห์ สิริทวีชัย ประธานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ITV ปี 66 ไปเป็นพยานในฐานะฝ่ายผู้ถูกร้อง
นอกจากนี้ นักวิชาการแขกรับเชิญ ยังกล่าวต่อว่า เคสตัดสินคดีพิธานี้ ถ้าใช้บรรทัดฐานเดียวกันกับสส. ฝ่ายรัฐบาล เมื่อครั้งถูกร้องเรียนในคดีเดียวกัน คือ “การถือหุ้นสื่อ” สรุปครั้งนั้นมีบุคคลถูกร้อง 29 ราย ศาล รธน. ก็ยกคำร้องทุกคน แม้จะมีวัตถุประสงค์ว่าทำสื่อ แต่หาได้มีการประกอบกิจการสื่อแต่อย่างใด อีกทั้งงบการเงินก็ไม่ปรากฏมีรายได้จากสื่อ ดังนั้น อ.ปริญญาจึงสรุปว่า หากเอาบรรทัดฐานเดียวกันนี้มาใช้กับเคสไอทีวี ก็แปลว่า “ไอทีวีไม่ใช่สื่อ” เว้นแต่ไม่ทราบได้ว่ามีการแอบไปทำโฆษณาอื่นอีกหรือไม่
ขณะเดียวกัน เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ผู้ที่เคยร้องเรียนคดีหุ้นไอทีวีของนายพิธา จนนำมาสู่การตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว ก็ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับPPTV โดยบอกว่า ตนเค่อนข้างเชื่อว่า นายพิธาจะรอดคดีหุ้นสื่อและได้กลับเข้าสู่สภา.