ข่าวข่าวการเมือง

โฆษกพรรคเพื่อไทย ถาม-ตอบ 18 ข้อ “โครงการแลนด์บริดจ์” ผลดี-ผลเสีย เป็นอย่างไร

ดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ถามตอบ 18 ข้อ โครงการแลนด์บริดจ์ ร่ายยาวทุกรายละเอียด ระยะเวลาขนส่ง งบประมาณ ไปจนความคุ้มค่าสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย

วันที่ 22 มกราคม 2567 ดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านบัญชีเอ็กซ์ (X.) โดยเป็นการตอบข้อสงสัยทั้งหมด 18 ข้อ เกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ ร่ายยาวตั้งแต่ ใช้ระยะเวลาในการขนส่งและงบประมาณเท่าไหร่ สินค้าที่มาใช้บริการท่าเรือมีอะไรมาจากที่ใดบ้าง ไปจนการพัฒนาโครงการจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนหรือไม่

รูปแบบโครงการแลนด์บริดจ์
ภาพ @thaigov

สำหรับรายละเอียดคำถาม-ตอบ 18 ข้อ ที่นายดนุพร โฆษกพรรคเพื่อไทย อฑธิบายไว้ มีดังนี้

1. จะมีการสร้างโรงกลั่นน้ำมันหรือโรงแยกก๊าซหรือไม่

ตอบ : ในแผนพัฒนาโครงการ ไม่มีครับ แต่หากเรือสินค้าที่เข้า-ออก มีความจำเป็นต้องเติมน้ำมัน ในผังแม่บทจะรองรับการก่อสร้างถังเก็บน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการในอนาคต ที่ต้องขออนุญาตให้ถูกกฎหมายต่อไป

กราฟฟิค โครงการแลนด์บริดจ์

2. อุตสาหกรรมที่จะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมประเภทใด

ตอบ : เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้ประชาชนในพื้นที่ได้พัฒนาเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ เช่น การแปรรูปยางพารา ปาล์มน้ำมัน อาหารทะเล ผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ และหากอุตสาหกรรมใดที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องมีการดำเนินการขออนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด

3. โครงการแลนด์บริดจ์จะใช้ระยะเวลาในการขนส่งและงบประมาณเท่าไหร่

ตอบ : โครงการแลนด์บริดจ์ จะมีการบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยงสองท่าเรือ และระบบขนส่งด้วยทางรถไฟและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วยลดเวลาได้อย่างน้อยประมาณ 5 วัน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณรวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนกับภาครัฐ

4. จะมีปัญหาการรั่วไหลของน้ำมัน/คราบน้ำมัน หรือไม่

ตอบ : โครงการจะมีการศึกษาผลกระทบน้ำมันรั่วไหล/คราบน้ำมัน ทั้งในช่วงก่อสร้างและดำเนินการ และจัดตั้งทีมปฏิบัติงานจัดการเหตุรั่วไหลพร้อมกับประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระงับเหตุดังกล่าว (4)

5. สินค้าที่มาใช้บริการท่าเรือมีอะไรบ้าง มาจากที่ใด

ตอบ : สินค้ากลุ่มนำเข้า/ส่งออก จะมาจากทุกส่วนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร, ยางพารา, ปาล์ม, น้ำมัน, สินค้าฮาลาลโดยเน้นพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลโลก, อุตสาหกรรม AI, และสินค้าผ่านแดน ที่มาจากการเชื่อม 2 ฝั่งทะเลและจีนตอนใต้

6. ปัญหาน้ำท่วมขัง

ตอบ : โครงการแลนด์บริดจ์ ออกแบบโดยสำรวจสภาพปัจจุบันของพื้นที่ เพื่อการก่อสร้างที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขวางทางน้ำ

7. จะกระทบกับวิถีชีวิตของชุนชม และประมงพื้นบ้านในการเดินทางหรือไม่

ตอบ : ประชาชนสามารถสัญจรลอดผ่านสะพานข้าม หรือบริเวณร่องน้ำเดินเรือได้ตามปกติ โครงการจะมีระบบควบคุมการเดินเรือเข้าออก และกำหนดพื้นที่ทำการประมงให้ชัดเจนเพื่อความปลอดภัยของกลุ่มประมงในพื้นที่

โครงการแลนด์บริดจ์ วันนี้ รายละเอียด
ภาพ @เว็บไซต์รัฐบาลไทย

8. มาตรการในการชดเชยเยียวยากับผู้ได้รับผลกระทบ

ตอบ : โครงการจะแต่งตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อหาสาเหตุของปัญหา รวมทั้งการจัดการเรื่องการเยียวยา ซึ่งคณะกรรมการกลางมีตัวแทนมาจาก 3 ฝ่าย คือ เจ้าของโครงการ ภาครัฐ และภาคประชาชน

9. แลนด์บริดจ์เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาครัฐ ภาคธุรกิจหลายส่วน ทำให้เกิดความสับสนไม่ชัดเจน

ตอบ : แลนด์บริดจ์เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, กรมทางหลวง และ การรถไฟแห่งประเทศไทย

10. สนข. ได้ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) หรือไม่

ตอบ : สนข. ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ในช่วงปี พ.ศ.2559 ซึ่งใช้เป็นกรอบการพิจารณาของรัฐบาลในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (10)

11. การพัฒนาโครงการจะก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนในทะเลเกิดการกัดเซาะในพื้นที่ และกระแสน้ำเปลี่ยนแปลงไป หรือไม่

ตอบ : มีการศึกษาข้อมูลสภาพปัจจุบัน และใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ในการจำลองการฟุ้งกระจายของตะกอน จากการก่อสร้าง ซึ่งสามารถระบุบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้ โดยจะนำผลการศึกษาดังกล่าวมากำหนดมาตรการการป้องกัน แก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ

ตอบคำถามแลนด์บริดจ์ 18 ข้อ
ภาพ @เว็บไซต์รัฐบาลไทย

12. จะแจ้งให้ชุมชนทราบก่อนจะมีการดำเนินการต่างๆ ในพื้นที่ เช่น การสำรวจพื้นที่ การปักหมุดที่ดิน หรือไม่

ตอบ : จะมีการแจ้งข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้นำชุมชนในพื้นที่ได้รับทราบก่อนการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

13. หลักเกณฑ์พิจารณาการเวนคืนที่ดิน

ตอบ : พื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ พิจารณาภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 สำหรับราคาในการจ่ายค่าทดแทนให้กับผู้ได้รับผลกระทบ คณะกรรมการกำหนดราคาฯ จะนำปัจจัยหลาย ๆ ด้านมาประกอบการพิจารณา โดยจะไม่ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์มากำหนดราคา เนื่องจากราคาประเมินทุนทรัพย์เป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก

และในส่วน พื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์/ที่ดิน ส.ป.ก. จะประสานกับกระทรวงเกษตรฯ และจะเจรจาด้านผลประโยชน์จากผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ ส.ป.ก. โดยมีแนวทางเพื่อเสนอประกอบการอนุมัติโครงการฯ เช่น การชดเชยค่ารื้อย้าย ค่าชดเชยพืชผล ต้นไม้ หรือการจัดที่ดิน ส.ป.ก. แปลงอื่นให้ หรือการจัดซื้อที่ดินแปลงใหม่ รวมถึงเงินเยียวยาที่ต้องโยกย้ายออกจากที่ดิน เป็นต้น

14. มีหลักเกณฑ์การพิจารณาการชดเชยพืชพรรณ ต้นไม้ ในกรณีที่ถูกเวนคืน อย่างไร

ตอบ : การพิจารณาการชดเชยต้นไม้ที่มีมูลค่า อ้างอิงจากราคาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงาน และหากไม่พบรายชื่อพันธุ์ไม้ตามบัญชี ทางคณะกรรมการพิจารณาเทียบเคียงจากชนิด ประเภทที่ใกล้เคียงที่สุด

15. มีการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างไร

ตอบ : ทางโครงการจะจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้เกิดความเข้าใจ การรับรู้ ภาพรวมในการพัฒนาโครงการ โดยกำหนดช่องทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมและทั่วถึงกลุ่มเป้าหมาย และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน สามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น นำเสนอข้อมูล ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลาศึกษาโครงการ

16. ผลกระทบต่อพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ เขตป่าชายเลน พื้นที่ทะเลและชายฝั่ง สัตว์น้ำและสัตว์ป่า การเวนคืนที่ดิน และการอพยพย้ายถิ่นฐาน

ตอบ : ในการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) โครงการจะมีการรวบรวมข้อมูลและสำรวจข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องครอบคลุมปัจจัยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ, ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ, คุณค่าต่อการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต เพื่อศึกษาและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมของโครงการ และกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ต่อไป

ถามตอบข้อ 15 โครงการแลนบริดจ์ ดนุพร
ภาพ X @DanuphornP

17. การจัดการน้ำจืดและปัญหาการแย่งน้ำใช้จากธรรมชาติที่ประชาชนใช้อยู่ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม

ตอบ : ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการจะต้องมีการสำรวจการใช้แหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อวางแผนและออกแบบ ไม่ให้กระทบกับผู้ใช้แหล่งน้ำเดิม และกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อไป

แหล่งน้ำ โครงการแลนบริดจ์
ภาพ X @DanuphornP

18. การพัฒนาโครงการจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนหรือไม่

ตอบ : โครงการจะยึดหลักการพัฒนาแบบยั่งยืน เพื่อให้โครงการสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนควบคู่กับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมได้ โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพของคนท้องถิ่นผ่านกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) โดยมีแหล่งเงินทุนในระยะก่อสร้าง จากผู้รับเหมาก่อสร้างหรือผู้ดำเนินการถมทะเลสมทบเงินเข้ากองทุนสำหรับระยะดำเนินการ ผู้ประกอบการท่าเรือแต่ละแห่งบนพื้นที่ถมทะเลจะเป็นผู้สมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายปี

ข่าวโครงการแลนด์บริดจ์ 18 ข้อ
ภาพ TikTok @thaigov

ทั้งนี้ โครงการ Landbridge เป็นโครงการเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอันดามัน บริเวณแหลมอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และอ่าวไทย บริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร ด้วยเส้นทางมอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังระบบรถไฟในประเทศได้ เพิ่มศักยภาพการขนส่งของไทย ร่นระยะเวลาขนส่งข้ามช่องแคบมะละกาที่แออัด รองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และสามารถขยายท่าเรือ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ โครงการนี้จึงถือว่าสำคัญ เพราะจะนำความเจริญมาสู่ประเทศ สร้างแรงจูงใจให้บริษัทขนาดใหญ่ระหว่างประเทศมาตั้งฐานผลิตรถยนต์ เครื่องจักรกล อุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ในไทย สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

อย่างไรก็ดี สำหรับข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะมีการศึกษาถึงผลกระทบในขั้นต้น และต่อไปจะเริ่มศึกษาลงไปที่แหล่งน้ำพุร้อน แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ต่อไป ในส่วนของการจ้างงาน ให้มองว่าเป็นเรื่องของโอกาส โดยท่าเรือที่สร้างขึ้นมาไม่ใช่แค่ท่าเรือขนสินค้าเท่านั้น แต่รวมถึงเรือสำราญ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญทั้งเป็นของชาวระนองและจังหวัดแถบอันดามัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาภาคใต้ทั้งภูมิภาค ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ในการทำ Mega Project นี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดในทุกมิติควบคู่กันไป

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button