Line Newsไลฟ์สไตล์

ติดอยู่ในลิฟท์ค้าง ต้องทำยังไง วิธีรับมืออย่างปลอดภัย ไม่เสี่ยงอันตราย

6 เทคนิคเอาตัวรอด ติดอยู่ในลิฟท์ค้าง ปฏิบัติตามนี้ปลอดภัย ไม่เสี่ยงตาย หากลิฟท์ไหลลงสู่ด้านล่าง

อาคารสูง ๆ อย่างคอนโด อะพาร์ตเมนต์ ตึกเรียน รวมถึงตึกออฟฟิศ มักมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างลิฟท์ สำหรับโดยสารแทนการขึ้นบันได แม้จะทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายและประหยัดเวลาได้มากขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงจะเกิดลิฟท์ค้าง สถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่สามารถทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร วันนี้ขอแนะนำวิธีรับมือ ควรทำอย่างไรหากติดอยู่ในลิฟท์ค้าง รู้ไว้ปลอดภัย ไม่เจ็บตัวแน่นอน

1. ตั้งสติให้มั่น

สิ่งสำคัญอันดับแรกเมื่อรู้ว่าลิฟท์ค้าง ต้องตั้งสติ อย่าตื่นตระหนกตกใจ เนื่องจากลิฟท์ส่วนใหญ่จะมีระบบความปลอดภัยที่ช่วยป้องกันไม่ให้ลิฟท์ตกลงมา จากนั้นให้สังเกตว่าลิฟต์ค้างนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวใด ๆ ทั้งสิ้น หรือกำลังค่อย ๆ ไหลลงสู่ด้านล่าง รวมถึงสังเกตชั้นที่ใกล้เคียงที่สุดก่อนลิฟท์ค้าง เพื่อให้สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้

2. ห้ามงัดแงะประตูลิฟท์อย่างเด็ดขาด

เมื่อติดอยู่ในลิฟท์ห้ามใจร้อน อยากออกจากลิฟต์โดยไว แล้วไปงัดแงะประตูลิฟต์ กระโดด หรือปีนขึ้นด้านบนเพดานลิฟต์โดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้ออกจากลิฟต์ได้แล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดอันตรายได้มากขึ้น เนื่องจากลวดสลิงลิฟต์โดยสารอาจขาด ทำให้ลิฟต์ตกลงสู่ชั้นล่าง ก่อให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงได้ หรือทำให้วงจรไฟฟ้าเสีย จนทำให้การช่วยเหลือล่าช้าลงไปอีก

3. กดปุ่มฉุกเฉิน

ภายในลิฟต์โดยสารจะมีปุ่มฉุกเฉิน หรือ Emergency Call เป็นสัญลักษณ์รูปกระดิ่งหรือระฆัง อยู่บนแผงควบคุมปุ่มกดลิฟต์ เมื่อลิฟต์ค้างให้เรากดปุ่มฉุกเฉิน เพื่อส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลภายนอกรับรู้ โดยการกดปุ่มเป็นระยะ ๆ กรณีที่ปุ่มฉุกเฉินใช้งานไม่ได้ ให้ลองกดปุ่มชั้นที่ใกล้เคียงกับที่ลิฟต์ติดอยู่ หรือใช้วิธีตะโกนขอความช่วยเหลือแทน

4. ใช้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ

กรณีที่ลิฟต์ไม่มีระบบสำรองไฟฟ้าฉุกเฉิน หรือลองกดปุ่มฉุกเฉิน ตะโกนขอความช่วยเหลือแล้วก็ยังไม่เป็นผล ให้เปิดไฟจากโทรศัพท์มือถือแทน และพิมพ์ข้อความ หรือโทรขอความช่วยเหลือ โดยสังเกตเบอร์ติดต่อเจ้าหน้าที่ได้จากเบอร์โทรฉุกเฉินบริเวณแผงควบคุมปุ่มกดลิฟท์

อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารอาจโทรหาคนรู้จัก พนักงานรักษาความปลอดภัยของตึกได้ กรณีที่มีเบอร์โทรติดต่อ จากนั้นให้แจ้งว่าลิฟต์ขัดข้อง มีผู้โดยสารติดอยู่ภายใน อยู่ใกล้เคียงบริเวณชั้นไหน มีอาการเจ็บป่วยหรือไม่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

5. ประหยัดอากาศให้มากที่สุด

โดยปกติแล้ว ลิฟท์โดยสารจะมีพัดลมระบายอากาศอยู่ด้านบนหลังคาลิฟท์ เพื่อช่วยถ่ายเทอากาศให้หมุนเวียน ผู้โดยสารไม่รู้สึกอึดอัด แต่หากลิฟต์ที่เราติดค้างอยู่ไม่มีระบบไฟสำรอง ส่งผลให้พัดลมระบายอากาศไม่ทำงาน จะทำให้อากาศภายในลิฟต์หมุนเวียนได้น้อย วิธีแก้ไขคือ หากใส่ชุดคลุมให้ถอดออก หายใจช้า ๆ พูดคุยให้น้อยที่สุด เพื่อประหยัดออกซิเจน

6. ห้ามนั่งหรือนอนในลิฟท์เด็ดขาด

เมื่อติดอยู่ในลิฟท์ค้าง ห้ามนั่งหรือในนอนในลิฟต์โดยเด็ดขาด เนื่องจากอากาศภายในลิฟต์ค่อนข้างน้อย อีกทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลอยลงสู่ที่ต่ำ หากนอนหรือนั่งในลิฟต์จะทำให้เราสูดอากาศไม่บริสุทธิ์เข้าไป ทำให้เกิดอาการหน้ามืด เวียนศีรษะได้ ควรยืนชิดผนัง จับราวลิฟต์ไว้ระหว่างรอความช่วยเหลือจะดีที่สุด

ติดลิฟต์

ควรทำอย่างไร หากลิฟท์ไหลลงสู่ด้านล่าง

หากติดลิฟท์แล้วลิฟท์ค้างอยู่กับที่ สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำด้านบน ระหว่างรอการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้ อย่างไรก็ตาม หากระหว่างรอ ลิฟต์เกิดตก เลื่อนไหลลงสู่ด้านล่าง อย่าตื่นตระหนกตกใจ เนื่องจากลิฟท์ส่วนใหญ่มีระบบป้องกันความปลอดภัย และมีอุปกรณ์จับความเร็วอยู่แล้ว

หากลิฟต์เคลื่อนที่เร็วเกินกว่าที่กำหนด ระบบจะล็อกให้ลิฟท์หยุดทำงานทันที ในกรณีที่ลิฟท์เลื่อนลงอย่างช้า ๆ อาจเลื่อนลงมากระแทกพื้นด้านล่างเบา ๆ เท่านั้น ควรพิงให้แนบชิดกับพนังลิฟท์ไว้ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดจากแรงกระแทก แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สาเหตุการเกิดลิฟท์ค้างมาจากหลายปัจจัย ทั้งไฟฟ้าดับ และลิฟท์ไม่มีระบบสำรองไฟฟ้า ทำให้อุปกรณ์ลิฟท์หยุดทำงานทันที นอกจากนี้สาเหตุอาจเกิดความผิดพลาดของอุปกรณ์ เช่น ประตูลิฟท์เสียหาย ระบบลิฟต์เสียกลางทาง ระบบควบคุมสั่งการทำงานเกิดขัดข้องหรือมีปัญหา ทำให้ลิฟท์หยุดทำงานโดยอัตโนมัติ เป็นต้น

แน่นอนว่า การติดอยู่ในลิฟท์ค้างเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราสามารถปฏิบัติตามแนวทางข้างต้น เพื่อให้สามารถเอาตัวรอดจากการติดลิฟท์ได้อย่างปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเอง

ลิฟท์ค้าง

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button