คมนาคม เดินหน้า รถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพู 20 บาทตลอดสาย
อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เผยผลการนำร่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สายสีม่วงและสีแดง มีผู้ใช้เพิ่มขึ้น ปีนี้เตรียมดำเนินโครงการต่อในสายสีเหลืองและสีชมพู ภายในปี 2567 นี้
วันที่ 17 มกราคม 2567 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวในงานเสวนา “โอกาสในการเข้าถึงการพัฒนาพื้นที่ กระจายความเจริญ จากนโยบายค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนทางราง” เผย กำลังศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ทั้งโครงการนำร่อง รถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีแดง 20 บาทตลอดสาย พบว่ามีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เตรียมเดินหน้าต่อในโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สายสีเหลืองและชมพู
ดร. พิเชฐ กล่าวว่า กรมการขนส่งทางราง ได้ขันเคลื่อนนโยบาย Quick Win เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน จึงได้เริ่มมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 นำร่องในรถไฟฟ้าสายสีม่วง (MRT สีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่) และรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน)
หลังจากดำเนินการโครงการดังกล่าว พบว่ามีปริมาณผู้ใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มขึ้น ช่วงวันจันทร์-ศุกร์ 11.01% และช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มขึ้น 24.85% ด้านผู้ใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงวันจันทร์-ศุกร์ 4.17% และช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ 13.41% สำหรับผู้โดยสารทั้งสองสาย เพิ่มขึ้นสูงขึ้นเกินคาดการณ์ ส่งผลให้รายได้ที่ต้องสูญเสียไปลดลงถึง 25% จากที่คาดการณ์ว่าจะสูญเสียรายได้ทั้งสองสายไป 300 ล้านบาทต่อปี
ในการเชื่อมต่อของรถไฟฟ้ากับระบบขนส่งสาธารณะนั้นยังไม่สมบูรณ์ กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งรัดในเรื่องนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อาจเห็นผลภายใน 3 เดือนข้างหน้า ส่วน 9 เดือนที่เหลือคาดว่าจะมีประชาชนใช้บริการเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และชดเชยรายได้น้อยลงตามไปด้วย ด้านช่วงปลายปี 2567 กรมการขนส่งทางราง จะสรุปผลนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นำเสนอแก่กระทรวงคมนาคมต่อไป
ด้านงบประมาณที่นำมาชดเชยรายได้ที่เสียไป ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะนำส่วนแบ่งจากรถไฟฟ้าสีน้ำเงินมาชดเชย ประมาณปีละ 2-3 พันล้านบาท สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง ต้องใช้งบประมาณของรัฐเข้ามาชดเชย และรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ มองว่าในปี 2567 สามารถดำเนินนโยบาย 20 บาทตลอดสายได้ใน 2 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงสำโรง-ลาดพร้าว) เนื่องจากมีปริมาณผู้โดยสารไม่มาก สามารถดำเนินการได้ง่าย ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สามารถนำเงินรายได้จากสายสีน้ำเงินมาชดเชยรายได้ให้เอกชนผู้รับสัมปทานได้
ทางกรมการขนส่งทางราง จะเสนอนโยบายรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง 20 บาทตลอดสาย ในการประชุมสัมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน ปี 2567 และปี 2568” ซึ่งมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูล พบว่า ประชาชนในกรุงเทพฯ รวมถึงเขตปริมณฑล เดินทางด้วยรถไฟฟ้าประมาณ 13 กิโลเมตรต่อเที่ยว และยินดีจ่ายค่ารถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 42 บาทต่อเที่ยว สำหรับราคา 20 บาทตลอดสาย เป็นราคาที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ประชาชนพร้อมจ่าย
ในระยะยาว กรมการขนส่งทางราง เสนอให้ปรับวิธีการลงทุนในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ ให้คล้ายคลึงกับการลงทุนก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนนที่รัฐจะต้องลงทุนแบบ 100% หากใช้วิธีที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชน จะไม่สามารถควบคุมราคาค่าโดยสารได้ เนื่องจากเอกชนจะต้องนำค่าบำรุงรักษามาบวกในค่าโดยสาร ทำให้ค่าโดยสารแพง ดังนั้นรัฐบาลควรจะต้องลงทุนเพียงผู้เดียว และจ้างให้เอกชนเป็นผู้เดินรถ หากร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง มีผลบังคับใช้ จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาในลำดับต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง