จับตาวันนี้ 14.00 น. ชี้ชะตา ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ กรณีถือหุ้นบุรีเจริญ
จับตาวันนี้ ชี้ชะตา ศักดิ์สยาม ชิดชอบ กรณีถือหุ้นบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น นัดฟังคำวินิจฉัย 14.00 น. ความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดหรือไม่?
ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกร้อง) ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับ การบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 42 และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณา วินิจฉัยและสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัย
โดยในวันนี้ (17 ม.ค. 67) ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัย นาย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เวลา 14.00 น. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนพยาน รวม 5 ปาก คือ นางวราภรณ์ เทศเซ็น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ นางสาววรางสิริ ระกิติ นางสาวฐิติมา เกลาพิมาย และนางสาวอัญชลี ปรุดรัมย์ โดยตอบข้อซักถามของศาลและของคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวนเรียบร้อยแล้ว
หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาพยานหลักฐานและคำชี้แจงของนายศักดิ์สยามแล้ว สามารถหักล้างประเด็นตามคำร้องได้ ทำให้เชี่อได้ว่านายศักดิ์สยามไม่ได้ถือหุ้นดังกล่าว และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ หจก.บุรีเจริญฯ
ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะมีคำวินิจฉัยในทางที่ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามไม่สิ้นสุดลงตามคำร้อง และอาจจะมีคำสั่งที่เกี่ยวข้องต่อไป กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยามหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว
แต่หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาพยานหลักฐานและคำชี้แจงของนายศักดิ์สยามแล้ว ไม่สามารถหักล้างประเด็นตามคำร้อง ทำให้เชี่อได้ว่านายศักดิ์สยามยังถือหุ้น และมีส่วนเกี่ยวข้องกับ หจก.บุรีเจริญฯ ในระหว่างเป็นรัฐมนตรี
ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะมีคำวินิจฉัยในทางที่ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงตามคำร้อง และอาจจะมีคำสั่งที่เกี่ยวข้องต่อไป กรณีที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยามหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งตามปกติศาลรัฐธรรมนูญมักจะสั่งให้รัฐมนตรีที่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ พ้นตำแหน่งตั้งแต่วันที่หยุดฏิบัติหน้าที่
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่สามารถตอบได้ว่ามั่นใจหรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ แต่น้อมรับคำพิพากษา ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด และหวังว่าน่าจะตอบข้อกล่าวหาทุกอย่างได้ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับคำพิพากษา ถ้าคำพิพากษาออกมาอย่างไรก็ตามนั้น
ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัย ‘ศักดิ์สยาม’ ปมถือหุ้นบุรีเจริญฯ 17 ม.ค. 67
‘อนุทิน’ น้อมรับทุกคำพิพากษา กรณี ‘ศักดิ์สยาม’ ซุกหุ้นบุรีเจริญ 17 ม.ค.