เตือน 3 โรค ระบาดหนักใปี 67 คาด คนไทยป่วยสูงสุด 6 แสนราย
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค คาดการณ์โรคเฝ้าระวังที่จะระบาดในหมู่คนไทยปี 2567 ว่ามี 3 โรค หลักๆ คือ 1. โควิด-19 2. ไข้หวัดใหญ่ 3. ไข้เลือดออก ประชาชนอาจป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่ง หรือทั้ง 3 โรคก็ได้
โควิด ยังไม่หายไปจากประเทศไทย
นพ.ธงชัยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 649,520 ราย เข้ารักษาในโรงพยาบาล 38,672 ราย และเสียชีวิต 852 ราย การป้องกันคือสวมหน้ากากอนามัย ฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงฟรี ปีละ 1 เข็ม ส่วนคนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงก็สามารถติดต่อขอรับการฉีดวัคซีนฟรีได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโควิดถูกปรับให้เป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงของโรคลดลง ในปี 2566 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่
- ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดสตามเกณฑ์เป็นจำนวนมาก มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น
- ประชาชนมีความเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 มากขึ้น
แต่ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ คนน้ำหนักเกิน และผู้เป็นโรคประจำตัว ยังคงเสี่ยงที่จะอาการทรุดจากโควิดได้
โรคไข้หวัดใหญ่
คาดว่าจะเริ่มระบาดเดือนพ.ค. คาดการณ์ว่าพบผู้ติดเชื้อ 346,110 ราย การป้องกันคือสวมหน้ากากอนามัย และฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง 1 เข็ม
ไข้หวัดใหญ่แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก คือ สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B อาการของไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดธรรมดามีความใกล้เคียงกัน แต่ไข้หวัดใหญ่มักมีอาการรุนแรงกว่าและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
อาการของไข้หวัดใหญ่ที่พบบ่อย มีดังนี้
ไข้หวัดใหญ่
- ไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส
- หนาวสั่น
- อ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- เบื่ออาหาร คลื่นไส้
- ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ
- ไอ จาม คัดจมูก
โรคไข้เลือดออก
เกิดจากยุงลายเป็นพาหะ พบผู้ป่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปี ถึง 3 เท่า แต่คาดว่าปีนี้จะพุ่งสูงราวๆ เดือนเม.ย.เป็นต้นไป และระบาดทั้งประเทศ คาดป่วยอยู่ที่ 276,945 ราย เสียชีวิต 280 ราย จากปี 2566 ป่วย 156,097 ราย เสียชีวิต 187 ราย
การป้องกันยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว ใช้ยาทากันยุง และหากมีอาการไข้สูงลอยควรรีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ ไข้เลือกออกมี 4 สายพันธุ์ ทำให้ 1 คน มีโอกาสป่วยได้ 4 ครั้ง ซึ่งหากมีการป่วยขอให้คิดถึงยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้เท่านั้น อย่าไปใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เพราะเสี่ยงทำเลือดออกง่าย อาการรุนแรง และเสียชีวิตได้
พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ติดครั้งแรกอาการอาจไม่ค่อยรุนแรง ที่น่ากลัวคือการติดเชื้อครั้งที่สอง จะทำให้อาการรุนแรงมาก และจะมีภูมิคุ้มกันขึ้นต่อทุกสายพันธุ์และอยู่ได้นาน ทำให้ครั้งที่สามและสี่จะไม่ค่อยรุนแรง
การติดเชื้อครั้งที่ 2 สามารถพบได้ทุกช่วงวัย แต่กรณีการเสียชีวิตในผู้ใหญ่นั้นพบว่า ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดัน เบาหวาน กลุ่มเหล่านี้ต้องรีบวินิจฉัยให้เร็ว การรักษาให้น้ำเกลือ หลีกเลี่ยงเรื่องยาที่อาจเป็นอันตราย