เปิด 10 อันดับพื้นที่ ฝุ่น PM2.5 เล่นงานอ่วม “คันนายาว” พุ่งที่ 1 เสี่ยงสุขภาพ
ปัญหาฝุ่น PM2.5 วันนี้ เปิดข้อมูล 10 อันดับพื้นที่ฝุ่นละอองในเมืองพุ่งสูง กรรมกรขวาคุยนอกจอ เผยคุณภาพอากาศในไทยจาก IQAir เมื่อ 9 โมงเช้าที่ผ่านมา เขตคันนายาว เจอเล่นงานอ่วม อันดับ 1 เสี่ยงปัญหาสุขภาพ
ติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ในช่วงสัปดาห์นี้ในหลายพื้นที่พบว่ามีค่าเกินมาตรฐานเป็นจำนวนมาก เสี่ยงต่อปัจจัยที่จะทำให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพตามมา ล่าสุดวันนี้ (10 ม.ค.67) รายการกรรมกรข่าว คุยนอกจอ ของสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 ได้เปิดเผย 10 อันดับ คุณภาพอากาศในไทย เมื่อเวลา 9.00 น. ที่ผ่านมา ปรากฎว่าตัวเลขดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ เอคิวไอ (AQI) นั้นน่าเป็นห่วงอย่างมาก
ตัวเลข 10 อันดับพื้นที่ คุณภาพอากาศแย่ ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงสุก เมื่อเวลา 09.00 น.
- เขตคันนายาว กรุงเทพฯ (188)
- เทศบาลพระนครศรีอยุธยา จ.อยุธยา (183)
- อ.ลำลูกกา ปทุมธานี (183)
- อ.บางพลี สมุทรปราการ (171)
- อำเภอเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา (170)
- อ.คลองหลวง ปทุมธานี (169)
- อำเภอเมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี (164)
- เขตทวีวัฒนา กทม. (164)
- เขตทวีวัฒนา กทม. (164)
- ดอนเมือง กทม. (163)
กรมควบคุมมลพิษ กำหนดมาตรฐาน AQI ของประเทศไทย ซึ่งมีค่าตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป
ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง มากกว่า 300 ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยดัชนีคุณภาพอากาศ 100 จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
ภาพรวมปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 ประเทศไทยวันนี้
สำหรับภาพรวมค่าฝุ่น PM 2.5 ในประเทศ อ้างอิงจากรายงาน ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 10 มกราคม 2567 ณ 07:00 น สรุปดังนี้
ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน
- ปทุมธานี กรุงเทพฯ จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.น่าน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.ลำพูน จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.พิจิตร จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.อ่างทอง จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.สระแก้ว จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.หนองคาย จ.กาฬสินธุ์ และ จ. นครราชสีมา
ภาคเหนือ : เกินค่ามาตรฐาน 11 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 12.8 – 75.0 มคก./ลบ.ม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เกินค่ามาตรฐาน 3 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 19.2 – 47.4 มคก./ลบ.ม.
ภาคกลางและตะวันตก : เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 34.9 – 77.6 มคก./ลบ.ม.
ภาคตะวันออก : เกินค่ามาตรฐาน 6 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 27.5 – 67.3 มคก./ลบ.ม.
ภาคใต้ : ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 10.7 – 28.9 มคก./ลบ.ม.
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 35.1 – 73.8 มคก./ลบ.ม.
คำแนะนำทางสุขภาพ
- ประชาชนทั่วไป : ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง
- ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ : ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์
สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์