สิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่ ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ได้รับสิทธิอะไรบ้าง เช็กสิทธิบัตรทอง 30 บาท พร้อมสิทธิที่ไม่ครอบคลุม และวิธีการเช็กสิทธิ
ถือเป็นข่าวดีตั้งแต่ต้นปี สำหรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส สามารถใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ที่หน่วยบริการทุกแห่งในระบบหลักประกันสุขภาพ เพียงแค่ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวเท่านั้น
วิธีเช็กสิทธิ รักษาพยาบาล 30 บาทรักษาทุกที่
ประชาชนทุกท่านสามารถเช็กสิทธิการรักษาพยาบาลได้ 4 ช่องทางหลัก ได้แก่
1. โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 2
2. เว็บไซต์ สปสช. eservices.nhso.go.th
3. แอปพลิเคชั่น สปสช. เลือกเมนู ตรวจสอบสิทธิตนเอง
4. ไลน์ สปสช. @nhso เลือกเมนู ตรวจสอบสิทธิ
สำหรับหน่วยบริการประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วยสามารถเข้ารับบริการได้ จะครอบคลุมโรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนต่าง ๆ ได้แก่ โรงพยาบาลเอกชน ร้านยา คลินิกการพยาบาล คลินิกเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกทันตกรรม คลินิกแพทย์แผนไทย ทั้งนี้ สถานพยาบาลเอกชนต้องขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วยจึงจะใช้สิทธิได้
นอกจากนี้ ประชาชนจะได้รับสิทธิด้านอื่น ๆ จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ มีรายละเอียดดังนี้
- รับการส่งต่อการรักษา โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
- ฟรี ค่าเจาะเลือดห้องแล็บใกล้บ้านเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยบริการทั้งหมด
- ฟรี รับยาทางไปรษณีย์
- ฟรี รับบริการที่คลินิกและร้านยาใกล้บ้าน
สิทธิบัตรทอง จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
นอกจากจะได้รับการรักษาที่สถานพยาบาลตามที่ระบุไว้ข้างต้นแล้ว ประชาชนผู้ถือบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะได้รับสิทธิเข้ารับบริการการตรวจ การวินิจฉัย และการรักษาตั้งแต่โรคทั่วไปอย่างโรคไข้หวัด ไปจนถึงการรักษาโรคเรื้อรัง อีกทั้งหญิงตั้งครรภ์สามารถรับบริการการคลอดบุตรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
สำหรับค่าใช้จ่ายในกระบวนการรักษา อาทิ ค่ายาและเวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาที่มีค่าใช้จ่ายสูงตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ค่าอาหาร ค่าห้องสามัญระหว่างการพักรักษาตัวที่หน่วยบริการ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการส่งตัวไปรักษา สิทธินี้ก็ครอบคลุมทั้งหมด
ผู้มีสิทธิสามารถรับบริการทันตกรรมต่าง ๆ ได้ฟรี ทั้งอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน การให้ฟลูออไรด์เสริมในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฟันผุ การรักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม การเคลือบหลุมร่องฟัน การผ่าฟันคุด ใส่เพดานเทียมเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ และการทำฟันปลอมฐานพลาสติก
นอกจากนี้ ยังครอบคลุมการรักษาการแพทย์แผนไทย ทั้งการใช้ยาสมุนไพร ยาแผนไทย การนวดเพื่อการรักษา ฟื้นฟูสุขภาพแม่หลังคลอด และการอบหรือประคบสมุนไพรเพื่อการรักษา
ผู้พิการ ผู้สูงอายุและผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู สามารถใช้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ได้ โดยมีทั้งกายภาพบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน ฟื้นฟูการมองเห็น และรับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด
อย่างไรก็ตาม การเข้ารับบริการรักษาพยาบาลและได้รับยาจากโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป (มีเตียงนอน 10 เตียงขึ้นไป) จะต้องจ่ายเงินจำนวน 30 บาทต่อครั้ง ยกเว้นบุคคล 20 กลุ่มตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้ที่มีความประสงค์ไม่จ่ายค่าบริการ 30 บาท สามารถแจ้งความจำนงไม่จ่ายค่าบริการได้ที่หน่วยบริการ
สิทธิประโยชน์ที่ไม่ครอบคลุม 30 บาทรักษาทุกที่
ประชาชนที่มีสิทธิรับการรักษาพยาบาลในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ไม่สามารถใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลบางประเภท และไม่สามารถเบิกได้ ดังนี้
- การกระทำใด ๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- การตรวจวินิจฉัยและการรักษาใด ๆ ที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง
- การปลูกถ่ายอวัยวะที่ไม่ปรากฏตามบัญชีหมายเลข 3 แนบท้ายประกาศนี้
- การบริการทางการแพทย์อื่น ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เบอร์โทรศัพท์ 02 141 4000 ในวันและเวลาราชการ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เริ่มวันแรก 7 ม.ค. นี้ 30 บาทรักษาทุกที่ ใช้บัตรประชาชนใบเดียว
- วิธีใช้สิทธิ “30 บาท รักษาทุกที่” นัดหมออนไลน์ 4 จังหวัดนำร่อง
- ‘สิทธิบัตรทอง 2566’ คุ้มครองอะไรบ้าง สิทธิรักษาพยาบาลพื้นฐานที่คนไทยต้องรู้