เปรียบเทียบ “30 บาท รักษาทุกที่” ต่างจาก “บัตรทอง” ใบเดิมอย่างไร
รวบตึงสิทธิประโยชน์โครงการ “30 บาท รักษาทุกที่” นโยบายทันสมัย ประชาชนเข้าถึงง่าย สมกับยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ต่อยอดจากปัญหา “30 บาทรักษาทุกโรค”
“30 บาท Pro 30 บาทรักษาทุกที่” โครงการยกระดับมาตรฐานการรักษาและบริการด้วยเทคโนโลยี เชื่อมโยงฐานข้อมูลของทุกสถานพยาบาลไม่ว่าจะรัฐ ห้องแล็บ หรือโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเข้าด้วยกันในรูปแบบดิจิทัล เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรักษาให้พี่น้องประชาชน
ต่อยอดจากจุดอ่อนในโครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่ครอบคลุมเพียงแค่โรงพยาบาลรัฐ รอบนี้พัฒนาเรื่องการจัดการข้อมูล สำหรับบันทึกประวัติคนไข้ นำแอปพลิเคชันหมอพร้อมเข้ามาใช้จ่ายยา บริการให้คำปรึกษาทางไกลสำหรับแพทย์เฉพาะทางและผู้ป่วยที่อยู่ห่างกัน รวมถึงขยายการรักษาโรคมะเร็งเพิ่มเติม พาไปดู 8 สิทธิประโยชน์ 30 บาทรักษาทุกที่มีอะไรเพิ่มบ้าง
1. จองคิวออนไลน์ ลดเวลานั่งรอที่โรงพยาบาล
ประชาชนสามารถจองคิวผ่านแอปหมอพร้อมโดยไม่ต้องไปรับบัตรคิวที่โรงพยาบาล เมื่อไปถึงโรงพยาบาลตรงตามเวลาที่นัดหมาย ก็สามารถโชว์หน้าจอหมอพร้อม พร้อมกับบัตรประชาชน และเข้ารับบริการได้ทันที
หากในการไปพบแพทย์ มีการสั่งตรวจเลือด ปัสสาวะ หรือตรวจแล็บ ผู้ป่วยสามารถเลือกรอรับบริการที่โรงพยาบาล หรือจะเลือกไปใช้บริการที่แล็บสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการได้ รวมถึงสามารถรับยาที่บ้าน หรือ ร้านขายยาใกล้บ้านที่ร่วมโครงการ เป็นการลดเวลารอหมอ ลดเวลาอยู่โรงพยาบาล
2. ฟรี บริการทำฟันและกายภาพบำบัด ในโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ
โครงการใหม่มีสิทธิประโยชน์ใหม่ที่เพิ่มขึ้น คือ ประชาชนสามารถเข้ารับบริการทันตกรรม กายภาพบำบัด ณ คลินิกที่เข้าร่วมโครงการ
จากเดิมที่บัตรทองสามารถใช้ได้เฉพาะโรงพบาบาลรัฐ อีกทั้งไม่รับรองการรักษาที่เกินความจำเป็นพื้นฐาน หรืออุบัติเหตุและการเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่ครั้งนี้รัฐบาลใส่ใจต่ออาการเจ็บป่วยที่มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น อย่างการทำกายภาพบำบัดนั่นเอง
3. รักษาข้ามจังหวัดได้เพียงยื่นบัตรประชาชนใบเดียว
หนึ่งในปัญหาด้านการแพทย์ของไทย นั่นคือ ขั้นตอนการเข้ารับรักษาที่ล่าช้า จากจำนวนผู้ป่วยและระบบา โดยเฉพาะผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในพื้นที่สิทธิ์การรักษาจำเป็นต้องขอใบส่งตัวเพื่อรักษาข้ามจังหวัด โดยโครงการ 30 บาท รักษาทุกที่จะทำการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยที่ได้ยืนยันตัวตนเรียบร้อยในแอปหมอพร้อม ไม่ต้องไปดำเนินการขอใบส่งตัวแบบเดิมอีก
สำหรับผู้ป่วยใน 4 จังหวัดนำร่อง ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี นราธิวาส หากเจ็บป่วยแล้วบังเอิญอยู่ต่างจังหวัด (แต่ต้องอยู่ในจังหวัดที่มีโครงการนี้เท่านั้น) ไม่ต้องพกเอกสาร หรือเตรียมเงินสำรองจ่ายให้ยุ่งยาก ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวเพื่อรักษาตัวในทุก โรงพยาบาล และคาดว่าจะครอบคลุมทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศภายในปีนี้
4. ขอรับสิทธิดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง
ผู้ป่วยสามารถขอรับสิทธิจากสถานชีวาภิบาล หรือการดูแลระยะสุดท้ายจากสถานพยาบาลได้ เพื่อกลับไปรักษาตัวในช่วงชีวิตที่เลือกอยู่ตามความต้องการ แตกต่างจากเดิมที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเท่านั้น
5. แพทย์สั่งจ่ายยาออนไลน์ได้ ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล
ผู้ป่วยที่แพทย์ทำการวินิจฉัยอาการเบื้องต้นผ่านออนไลน์แล้ว จะได้รับใบสั่งยาที่โชว์บนแอปหมอพร้อม โดยผู้ป่วยสามารถแสดงหน้าจอ บัตรประชาชนเพื่อยืนยันกับเภสัชกร ณ ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการแถวบ้าน รับยาที่บ้าน หรือร้านยา ทุกอย่างออนไลน์ได้
นอกจากนี้สามารถเลือกรับยาผ่านไปรษณีย์ แต่ตามหลักการจ่ายยาแล้วเภสัชกรจะต้องอธิบายวิธีการใช้ยาจึงจะเสร็จสิ้นกระบวนการ แต่ในกรณีใหม่เภสัชกรจะทำวิดีโอคอลหาผู้ป่วยเพื่ออธิบายและแนะนำวิธีการใช้ยาให้ถูกต้อง
สามารถรับยาได้ที่ร้านขายยาใกล้บ้าน หรือรอรับทางไปรษณีย์ได้ในเดือนมีนาคม 2567 จะมีการขยายจังหวัดนำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ อีก 8 จังหวัด
- เพชรบูรณ์
- นครสวรรค์
- หนองบัวลําภู
- อํานาจเจริญ
- นครราชสีมา
- สิงห์บุรี
- สระแก้ว
- พังงา
6. มีบริการพบแพทย์ทางไกล
ผู้ป่วยที่ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง แต่การเดินทางไม่เอื้ออำนวย สามารถใช้ระบบบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อติดต่อกับหมอประจำโรงพยาบาลจังหวัดนั้น ๆ
ผู้ป่วยสามารถขอรับบริการแพทย์ทางไกล หรืออาจเดินทางไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอเข้าพบแพทย์ผ่านทางออนไลน์ โดยจะเลือกรับยาที่บ้าน ร้านยาใกล้บ้าน หรือ ผ่านไปรษณีย์ก็ได้เช่นเดียวกัน
7. บันทึกประวัติสุขภาพออนไลน์
เพื่อลดขั้นตอนซักประวัติที่ไม่จำเป็นในบางเคส สำหรับประชาชนที่ถือบัตรทองอยู่แล้ว ท่านจะมีข้อมูลด้านสุขภาพทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้ในหมอพร้อม เพื่อเชื่อมโยงประวัติการรักษาให้ถึงกันทุกโรงพยาบาล ข้อดีที่เพิ่มขึ้นนั่นก็คือ ไม่เสียเวลาในการซักประวัติใหม่ และช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
8. การรักษาโรงมะเร็งครบวงจร
สิทธิที่เพิ่มเข้ามาจากสิทธิบัตรทองเดิม คือ การรักษามะเร็งครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเด็ก การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม หากตรวจพบก็จะถูกส่งต่อเข้ารับการรักษาต่อไป
ทั้งนี้สามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการเอกชน 4 จังหวัดบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. หรือที่ลิงก์ www.nhso.go.th
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม