ไขข้อสงสัย “ค่ารักษาพยาบาล-ซื้อประกัน” ใช้สิทธิโครงการ Easy E-Receipt มาตรการลดหย่อนภาษี 50,000 บาท ประจำปี 2567 ได้หรือไม่
Easy E-Receipt โครงการลดหย่อนภาษีจากภาครัฐ ประจำปี 2567 มีจุดประสงค์เพื่อช่วยลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีบุคคลธรรมดา ประชาชนสามารถยื่นเรื่องขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ด้วยการส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันนี้ – 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยทางภาครัฐจะหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามจำนวนที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท
สำหรับผู้อ่านที่กำลังสงสัยว่า ค่ารักษาพยาบาล และ การซื้อประกัน สามารถนำมาลดหย่อนภาษีในโครงการ Easy E-Receipt ได้หรือไม่ ติดตามรายละเอียดเงื่อนไขไปพร้อมกัน
ค่ารักษาพยาบาลลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ได้ไหม
ค่ารักษาพยาบาลนำมาลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ไม่ได้ เนื่องจากกรมสรรพากรได้ชี้แจงไว้ว่า สถานพยาบาลได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผู้ประกอบการไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) และใบรับแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)
ดังนั้น ผู้ใช้บริการสถานพยาบาทั้งหลายจึงไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ เพราะค่ารักษาพยาบาลไม่มีใบกำกับภาษีนั่นเอง
ซื้อประกันลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ได้ไหม
ข้อสงสัยที่ว่า ซื้อประกัน สามารถนำมาลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ได้ไหม คำตอบก็คือ ไม่ได้ กล่าวคือ การซื้อประกันเป็นหนึ่งในรายการซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่ถูกยกเว้นจากกรมสรรพากร เหตุเพราะเป็นบริการที่ได้รับยกเว้นจากภาครัฐว่าไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
การซื้อประกันในที่นี้ได้ครอบคลุมทุกประเภทของประกัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าซื้อประกันชีวิต, ประกันวินาศภัย, ประกันสุขภาพ และ ประกันรถยนต์
อย่างไรก็ตาม เบี้ยประกันบางประเภท คือ “ประกันชีวิต” สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามปกติอยู่แล้ว หากต้องการใช้เงินส่วนนี้ลดค่าใช้จ่ายทางภาษี โปรดอ่านรายละเอียดด้านล่างว่าลดได้สูงสุดกี่บาท
สำหรับประชาชนที่สนใจลดหย่อนค่าซื้อเบี้ยประกันชีวิต ขอให้พิจารณาใช้สิทธิตามมาตรา 47 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 47(1)(ง) ที่กำหนดว่า “เบี้ยประกันภัยที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปในปีภาษีสำหรับ การประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิต มีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิต ในราชอาณาจักร”
รวมถึงพิจารณาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ว่าด้วย การยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 กำหนดว่า “เงินได้เท่าที่ ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย ในปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 40,000 บาท เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับ ผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด”
นอกจากนี้ก็ยังมีสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่ไม่สามารถเข้าร่วม Easy E-Receipt ได้ ตามระเบียบข้องบังคับของกรมสรรพากร ได้แก่
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด (วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567) เช่น ค่าสมาชิกต่าง ๆ
สุดท้ายนี้ หากผู้อ่านท่านใดที่มีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามไปยังกรมสรรพากร ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1161
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง