สังเวย 8 ศพ เหยื่อไข้หูดับ ในอีสานใต้ เหตุกินลาบ-ก้อยหมูดิบ
แพทย์เตือน! โรคไข้หูดับ เสียชีวิตแล้ว 8 ศพ เหตุเพราะคนนิยมบริโภคลาบและก้อยหมูดิบ แนะต้องปรุงสุกก่อนทาน เผยส่วนใหญ่เกิดในอีสานใต้
วันนี้ (5 ม.ค. 66) ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา “นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน” เปิดเผยว่า ในระยะนี้มีผู้ป่วยจำนวนมาก มีอาการของโรคไข้หูดับ ซึ่งเป็นผลจากการทานหมูดิบ ลาบเลือดดิบ แหนมดิบ และก้อยดิบ แกล้มกับการดื่มสุรา ซึ่งในจำนวนนี้รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าที่มีบาดแผลแล้วสัมผัสหมูสดที่มีเชื้อด้วย
ทำให้แพทย์ต้องออกมาเตือนว่า ประชาชนควรปรุงเนื้อหมูในสุกก่อนทาน และหากมีการปิ้งบ่าง ก็ต้องมีอุปกรณ์คีบเนื้อหมูสุกและดิบแยกกัน เพราะโรคหูดับอาจส่งผลทำให้สูญเสียการได้ยินถาวร หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
จากการตรวจสอบโรคไข้หูดับที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 ธันวาคม 2566 พบว่ามีผู้ป่วยไข้หูดับมากถึง 137 ราย โดยในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 8 ราย ได้แก่
- จังหวัดนครราชสีมา 5 ราย
- จังหวัดสุรินทร์ 1 ราย
- จังหวัดชัยภูมิ 1 ราย
- จังหวัดบุรีรัมย์ 1 ราย
โรคไข้หูดับ มีชื่อเชื้อภาษาอังกฤษว่า สเตปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อดังกล่าวจะแฝงอยู่ในทางเดินหายใจและเลือดของหมู ซึ่งติดต่อผ่านคนได้จากการรับประทานแบบดิบ ตลอดจนบาดแผลบนร่างกาย เช่น รอยมีดบาด แผลถลอก และเยื่อบุตา
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อไข้หูดับ จะมีอาการปวดศีรษะ ปวดข้อ คอแข็ง หนาวสั่น ไข้สูงเฉียบพลัน ตาแดง ปวดตารุนแรง หายใจลำบาก มีเลือดจ้ำบนร่างกาย มองเห็นภาพเบลอ และการได้ยินลดลงถึงขั้นหูหนวก
ทั้งนี้นอกจากการทานเนื้อหมูที่ปรุงสุก ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงโรคไข้หูดับได้ด้วยการเลือกซื้อหมูจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ อย่าซื้อหมูจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มา และควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันหากต้องสัมผัสเนื้อหมูโดยตรงในช่วงที่มีบาดแผล เช่น ใส่ถุงมือ เป็นต้น.