สาวท้อง โพสต์โวย หนุ่มไม่สละที่นั่งบุคคลพิเศษให้ ชาวเน็ตถกเถียงเสียงแตก
ระอุโซเชียล สาวท้อง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมรูปถ่าย เผยประสบการตั้งท้องแต่ต้องยืนบนรถไฟฟ้าตลอดเส้นทาง เนื่องจากผู้โดยสารชายไม่สละที่นั่งบุคคลพิเศษให้ ด้านชาวเน็ตคอมเมนต์สองฝั่ง
เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากบนโลกออนไลน์ ณ ตอนนี้ เมื่อมีหญิงสาวตั้งท้องรายหนึ่ง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เล่าประสบการณ์ที่ต้องยืนบนรถไฟฟ้าบีทีเอส ตั้งแต่สถานีต้นจนถึงสถานีปลายทาง ทั้ง ๆ ที่กำลังตั้งท้อง เพราะมีผู้ชายที่นั่งบนที่นั่งบุคคลพิเศษ (Priority Seat) ไม่สละที่นั่งให้ พร้อมตั้งคำถามต่อจิตสำนึกและความเห็นอกเห็นใจกันของผู้คนในปัจจุบัน
สำหรับข้อความที่สาวตั้งท้องได้โพสต์ ความว่า “ขอบคุณที่นั่งสำหรับ คนพิการ พระสงฆ์ และ คนท้อง (ที่ไม่ได้นั่งเลย ยืนตลอดสาย ) ตั้งแต่บีทีเอส แบริ่ง – อโศก และเป็นวันที่ 3 ม.ค. 67 เป็นวันที่คนเริ่มกลับมาทำงาน และ บน BTS ผู้คนแน่นมากๆ แต่สำหรับคนท้องที่มีที่นั่งพิเศษ แต่กลับไม่ได้นั่ง
ส่วนคนที่แข็งแรง และเป็นผู้ชาย แหงนหน้ามามองหลายรอบมาก แต่กลับนิ่งเฉย (ฉันยืนเหงื่อแตก ตาลาย ไหนมือหนึ่งจะเกาะเสา ไหนอีกมือจะคว้านหายาดมในกระเป๋า (แทบล้มตอนขบวนออกตัว) แต่เขาก็ยังนั่งมองฉันเฉย ๆ แบบไม่มีจิตสำนึกอะไรเลย ผู้คนในบีทีเอสต่างมองเขากัน แต่เขาก็ยังทำตัวนิ่งเฉย เริ่มไม่เข้าใจแล้วว่า ที่นั่งสำหรับคนท้อง คนพิการ พระสงฆ์ ติดป้ายยังไม่ชัดเจนใช่ไหม? หรือเข็มกลัดที่ท้องเรา มันเห็นไม่ชัดใช่ไหม (ทั้ง ๆ ที่มันอยู่ตรงหน้าคุณแท้ ๆ)”
หลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ ก็กลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว ด้านชาวเน็ตก็ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์กันอย่างล้นหลาม โดยทิศทางได้แตกออกสองฝั่ง มีทั้งด้านที่เห็นใจเจ้าของโพสต์ อาทิ “เรื่องจริงสังคมสมัยนี้” “ตอนพี่ท้อง พี่ได้ยืนบนรถสองแถว ท้องใหญ่ด้วยนะ จนครึ่งทางถึงมีคนลุกให้” “ไม่มีจิตใจน้ำใจให้คนท้องเลยครับ” “พี่เห็นคนแก่คนพิการคนท้องพี่รีบลุกเลย ถึงไม่ใช่นั่งที่นั่งพิเศษก็เถอะ จิตสำนึกควรมีนะ”
นอกจากนั้นก็ยังมีคอมเมนต์อีกฝั่ง มองว่าเจ้าของโพสต์ควรจะพูดขอความร่วมมือจากชายคนดังกล่าวตรง ๆ ไม่ควรนำมาโพสต์เฟซบุ๊กแบบนี้ อาทิ “ถ้าเขาไม่มีมารยาทก็แค่พูดค่ะ อย่าเหนียมอายจนเป็นอันตรายกับลูกในท้อง ถ้าขนาดมีเวลาพิมพ์+ถ่ายลงโซเชียลได้แค่พูดไม่น่ายากนะคะ” “ถ้าไม่มีใครสนใจหรือทราบสิทธิ์ของคุณ คุณสามารถเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเอง ณ ตรงนั้นได้นะคะ บ่นในโซเชียลคงได้แค่ยอด Engagement” “พูดได้ก็พูดครับ บางคนไม่รู้เรื่องจริง ๆ”
สำหรับที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ (Priority Seat) นั้น ทางรถไฟฟ้าบีทีเอสได้จัดที่นั่งดังกล่าวเพื่อรองรับบุคคล 6 ประเภท ได้แก่ เด็ก, สตรีมีครรภ์ (คนท้อง), คนพิการ, ผู้ป่วย และพระสงฆ์ โดยมีจุดสังเกตคือสัญลักษณ์ตรงพนักพิงของที่นั่ง เพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็น แท้ที่จริงแล้ว ที่นั่งดังกล่าวผู้โดยสารทุกคนสามารถนั่งได้ เพียงแต่หากมีบุคคล 6 ประเภทดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้งาน ผู้โดยสารทุกคนต้องพร้อมเสียสละที่นั่งให้เสมอ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- บีทีเอส โพสต์ภาพ ระวังสะบัดปลายผมใส่ผู้อื่น ชาวเน็ตร่วมแชร์ประสบการณ์
- สับเละ ครอบครัวจีนพาลูกขึ้นบีทีเอส-ปีนป่ายสนุกสนาน คนเป็นพ่อไม่ห้ามแถมยืนถ่ายคลิป
- วิธีเดินทางไป “เอ็มสเฟียร์” ห้างใหม่ใจกลางสุขุมวิท ติดรถไฟฟ้าบีทีเอส