‘ไรโนไวรัส’ ระบาดหนัก หมอมนูญ เตือน วินิจฉัยยาก ค่าตรวจแพง ไม่มียา
‘หมอมนูญ’ โพสต์เตือนประชาชน เฝ้าระวัง ‘ไรโนไวรัส’ ระบาดหนัก รองจากโควิด ไข้หวัดใหญ่ ทั้งยังวินิจฉัยยาก ค่าครวจแพง ไม่มียาต้าน รักษาตามอาการเท่านั้น
วันนี้ (4 มกราคม 2567) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าหน่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หัวหน้าห้อง ICU โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุข้อความให้ประชาชนเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ ‘ไรโนไวรัส’ ไวรัสทางเดินหายใจ โรคยอดฮิต รองจากเชื้อโควิดและไข้หวัดใหญ่ แต่รักษายากกว่า เหตุเพราะวินิจฉัยยาก ค่าตรวจเชิ้อราคาสูง ไม่มียาต้าน และไม่มีวัคซีน พร้อมทิ้งท้ายยกตัวอย่างอาการป่วย
“ช่วงนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไรโนไวรัส Rhinovirus ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พบบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ของไวรัสทางเดินหายใจ รองจากไวรัสโควิด และไข้หวัดใหญ่ การวินิจฉัยอาการยังยาก ต้องใช้การตรวจแบบรหัสพันธุกรรม เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสูง ยังไม่สามารถตรวจได้ในราคาถูกโดยใช้ชุดตรวจที่ให้ผลเร็ว
ปกติถ้าสงสัย Rhinovirus เราจะไม่ส่งตรวจ เพราะเมื่อทราบแล้วก็ไม่มียาต้านไวรัส ให้ยาตามอาการ ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ ไม่มีวัคซีนป้องกัน
ไรโนไวรัส (Rhinovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัด (common cold) เดิมเรารู้จักไรโนไวรัส A และ B เป็นไวรัสที่ไม่ทนความร้อน จึงชอบอยู่ที่จมูก เพราะจมูกมีอุณหภูมิต่ำกว่าหลอดลมหรือปอด อาการจึงมีแต่น้ำมูกไหล เจ็บคอ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบ Rhinovirus C ตัวใหม่ เป็นไวรัสที่ปรับตัวทนความร้อนได้ดี จึงลงหลอดลมหรือปอด ทำให้เกิดหลอดลมหรือปอดอักเสบได้ อาการจะคล้ายกับ RSV, hMPV มาก แยกกันได้ยาก”
ไรโนไวรัส กี่วันหาย
“ผู้ป่วยหญิงอายุ 34 ปี วันที่ 21 ธันวาคม 2566 เป็นหวัด น้ำมูกใส ๆ เจ็บคอ 1 วัน ไม่ไอ ไม่เหนื่อย ไม่มีไข้ ตรวจร่างกายปกติ คนไข้ขอตรวจรหัสพันธุกรรม 22 สายพันธุ์ พบ Rhinovirus ให้ยารักษาตามอาการ ดีขึ้นเองใน 1 สัปดาห์ เหลือแต่น้ำมูกเล็กน้อย
2 วันหลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการ วันที่ 23 ธันวาคม 2566 สามีผู้ป่วยอายุ 36 ปี มีน้ำมูก แสบจมูก เจ็บคอ ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย ตรวจร่างกายปกติ คนไข้ขอตรวจรหัสพันธุกรรม 22 สายพันธุ์ พบ Rhinovirus เหมือนกัน ให้การรักษาตามอาการ ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ ดีขึ้นเองใน 1 สัปดาห์ เหลือแต่น้ำมูกเล็กน้อย”
อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยการป่วยดังกล่าวไม่มียาต้าน ทางแพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ สำหรับกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้สูงอายุ, หญิงตั้งครรภ์, คนที่มีโรคเรื้อรัง เด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ทั้งนี้ เพราะเด็กเล็กยังดูแลตัวเองไม่ได้ หากพบว่ามีอาการป่วยควรรีบนำส่งโรงพยาบาล ไม่งั้นอาจทำให้เกิดอาการปอดอับเสบถึงขั้นเสียชีวิตได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักวิทย์ หวั่น ‘โรคกวางซอมบี้’ ระบาดสู่คน หลังพบเชื้อกระจายพื้นที่ป่าสหรัฐฯ
- คนไทยป่วย ‘ไข้หูดับ’ พุ่งครึ่งพัน อ.เจษฎา เตือนสายปิ้งย่าง อย่าใช้ตะเคียบคีบหมูดิบ
- ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ นั่งอยู่ในห้องแอร์ ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 จริงไหม