‘เพื่อไทย’ ประท้วงวุ่น ‘จุรินทร์’ เหน็บ นักโทษบางคนติดคุกทิพย์กว่า 120 วัน
เพื่อไทย ประท้วงวุ่น จุรินทร์ เหน็บกรมราชทัณฑ์ นักโทษบางคนที่ติดคุกทิพย์กว่า 120 วัน ด้านรัฐบาลสวน ไม่คิดว่าจะอภิปราย เพราะตลอดมาเป็นรัฐมนตรีที่ล้มเหลว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกอภิปรายงบประมาณของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมได้งบประมาณ 14,972 ล้านบาท โดยช่วงหนึ่งของการอภิปรายระบุว่า กรมราชทัณฑ์ เลือกปฏิบัติต่อนักโทษบางคนที่ติดคุกทิพย์กว่า 120 วันโดยที่ไม่ติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว
ซึ่งจังหวะนี้ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง พร้อมระบุว่า “ผมไม่คิดว่า นายจุรินทร์ จะอภิปราย เพราะที่ผ่านมาเป็นรัฐมนตรีที่ล้มเหลวมาโดยตลอด” ก่อนจะระบุว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะเอาเรื่องข้างนอกเข้ามา ตนรู้ว่าที่กำลังจะพูดถึงนั้นคือ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ท่านโดนกลั่นแกล้งไปอยู่เมืองนอกว่า 17 ปีแล้วกลับเข้ามา แต่ท่านรู้หรือไม่ว่า ที่ทุกครั้งที่ขออนุญาตมีใบรับรองจากอธิบดีฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ นายวันมูหะมัดนอร์ ประธานในที่ประชุม ได้ให้นายจุรินทร์อภิปรายแต่ พร้อมขอให้นายจุรินทร์พยายามอย่าเอ่ยถึงบุคคลภายนอกสภา
แต่ นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นประท้วงนายครูมานิตย์ต่อ โดยระบุว่า นายครูมานิตย์ ได้กล่าวสิ่งที่เป็นเท็จในสภาฯ ว่า กล่าวหาและเสียดสี นายจุรินทร์ เป็นผู้บริหารราชการที่ล้มเหลว ถือเป็นการใส่ร้ายอย่างร้ายแรง จึงขอให้ถอนคำพูด แต่ นายวันมูหะมัดนอร์ วินิจฉัยว่า เรื่องนี้เป็นการแสดงความคิดเห็น ที่ไม่ใช่คำหยาบคายใดๆ อีกทั้งคนฟังสามารถตัดสินเองได้ จึงขอให้นายจุรินทร์อภิปรายต่อ
จากนั้น นายจุรินทร์ อภิปรายต่อว่า ตนไม่ประสงค์จะเอ่ยชื่อบุคคลใด ขอให้ประธานสบายใจได้ เพราะเคารพกติกาเสมอ คำถามก็คือ ทำไมนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้ร่วมรับผิดชอบบริหารโครงการ 3.8 หมื่นล้านบาท ไม่ทำข้อเคลือบแคลงสงสัยให้กระจ่าง โดยเฉพาะนายกฯ ทั้งที่ทุกวันนี้เห็นสั่งการได้ทุกเรื่อง กลายเป็นหลงจู๊ประเทศ แต่พอเรื่องคาใจทำไมไม่สั่ง หรือตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เพื่อไขข้อสงสัยให้กับคนทั้งประเทศ ซึ่งการใช้งบประมาณของกรมราชทัณฑ์ ที่ออกระเบียบ
ว่าด้วยการดำเนินการคุมขัง ในสถานที่คุมขัง 2566 อ้างทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และการใช้งบส่อไปในทางไม่ชอบหรือไม่ ทั้งนี้การออกระเบียบดังกล่าว เป็นระเบียบแบบศรีธนญชัย เพราะแทนที่จะแยกผู้ต้องขังออกจากนักโทษเด็ดขาด กลับกลายเป็นว่าไปแยกผู้ต้องขังเด็ดขาดออกเป็นสองมาตรฐาน โดยมาตรฐานที่ 1 ติดคุกที่เรือนจำ และมาตรฐานที่ 2 ติดคุกที่บ้านได้ ใช้เพียงอำนาจของคณะกรรมการ ไม่ใช่อำนาจศาล จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เลือกปฏิบัติ และคำพิพากษาของศาลไร้ความหมาย ศาลสถิตยุติธรรม พิพากษาจำคุก แต่กรมราชทัณฑ์สั่งให้นักโทษบางคนไปติดคุกที่บ้าน กลายเป็นนักโทษเทวดา