Line Newsไลฟ์สไตล์

พระประวัติ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช นักแข่งรถเอฟวัน คนแรกของไทย

เจาะเวลาหาอดีต พระประวัติ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือ พระองค์ชายพีระ เจ้าชายนักแข่งรถกรัด์ปรีซ์ในยุโรป คนไทยคนแรกที่รู้จักในวงการนักแข่งระดับโลก และยังเคยทรงฉายกับ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

เปิดพระประวัติ ร้อยเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช พระนามลำลองว่า พระองค์ชายพีระ เป็นพระวรวงศ์เธอ ชั้น 4 (พระองค์เจ้าชั้นตรี) นักแข่งรถเอฟวันชาวไทยคนแรก และหนึ่งในตัวแทนผู้เข้าแข่งขัน กีฬาเรือใบ ในโอลิมปิกฤดูร้อน ค.ศ. 1956, 1960, 1964 และ 1972 นอกจากนี้ยังเคยคว้าตำแหน่ง “ดาราทอง” ของสมาคมนักแข่งรถอังกฤษ และเป็นแชมป์แข่งรถขนาดเบาระหว่างชาติหลายแห่งในยุโรปช่วง ช่วงปี พ.ศ. 2478-2479 อีกด้วยนั่นเอง

พระประวัติ “พระองค์ชายพีระ” ชีวิตการแข่งขันขับรถ-คู่สมรส

ร้อยเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช พระนามลำลองคือ พระองค์ชายพีระ ทรงประสูติ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2457 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม (เมื่อแรกประสูติมีพระอิสริยยศที่ หม่อมเจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช) และสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันที่ สถานีรถไฟบารอนส์คอร์ต ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ขณะมีอายุ 71 ปี ในช่วงเทศกาลวันคริสต์มาส

สำหรับพระประวัติของ พระองค์ชายพีระ ทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือ จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อีกทั้งยังทรงเป็นพระอนุชา (น้องชาย) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ส่วนพระมารดาคือ หม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา

นอกจากนี้ พระบิดาของพระองค์พีระ ยังมีอีกพระนามว่า “สมเด็จวังบูรพา” ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดกิจการไปรษณีย์ไทย และทรงเป็นต้นราชสกุลภาณุพันธุ์

ประวัติ การแข่งขันขับรถ เอฟวัน

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เริ่มต้นเข้าสู่วงการแข่งขันขับรถ ผ่านการสนับสนุนของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทั้งสองพระองค์เป็นที่รู้จักในหมู่นักแข่งรถในชื่อ Prince Bira และ Prince Chula

ทรงขับรถยี่ห้อ อี.อาร์.เอ. (English Racing Automobiles – E.R.A.) ทาสีฟ้าสดใส รถที่ใช้ในการแข่งขัน ชื่อ อี.อาร์.เอ. รอมิวลุส (Romulus) อี.อาร์.เอ. รีมุส (Remus) และ อี.อาร์.เอ. หนุมาน (Hanuman) สีฟ้าแบบนี้ ทำให้ปัจจุบันมีชื่อสีเฉพาะว่า ฟ้าพีระ (Bira blue) นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ด้วยทักษะความสามารถของ พระองค์ชายพีระ ทรงชนะเลิศการแข่งขันครั้งแรก ในรายการ Coupe de Prince Rainier ที่เซอร์กิตเดอโมนาโก (ปัจจุบันคือ โมนาโกกรังด์ปรีซ์) ได้รับถ้วยเจ้าชายแรนีเยที่ 3 องค์อธิปัตย์แห่งโมนาโก เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2479 โดยทรงขับรถรอมิวลุส

นอกจากนี้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ยังทรงชนะเลิศการแข่งรถกรังด์ปรีซ์ในยุโรปอีกหลายครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 1936, 1937 และ 1938 จนได้รางวัล ดาราทอง (BRDC Road Racing Gold Star) จากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร 3 ปีซ้อน ทรงได้รับการบรรจุพระนามในหอเกียรติยศของสมาคมนักแข่งรถอังกฤษ

ทั้งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้เสด็จกลับประเทศไทยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2480 และทรงนำรถรอมิวลุสมาทรงขับโชว์ และทรงจัดประลองความเร็วที่ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2480 โดยราชยานยนต์สมาคมแห่งสยาม และจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมที่วังจักรพงษ์

กระทั่ง ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญ ในการเตรียมการจัดการแข่งขันกรุงเทพกรังด์ปรีซ์ (Bangkok Grand Prix) ในปี พ.ศ. 2482 ได้ เชิญนักแข่งชั้นนำมาแข่งขันบนเส้นทางรอบสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง ระยะทาง 2 ไมล์ ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 แต่การแข่งขันนี้ต้องยกเลิกไป เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นเสียก่อน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระองค์ทรงสมัครเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษ ได้ยศเรืออากาศโท ตำแหน่งครูฝึกเครื่องร่อน จนสงครามโลกสิ้นสุดลง จึงกลับมาขับรถฟอร์มูลาวัน (เอฟวัน) แข่งขันกรังด์ปรีซ์ในช่วง ค.ศ. 1950 – 1954

ในการแข่งขัน เฟรนช์กรังด์ปรีซ์ ในปี ค.ศ. 1954 ทรงขับรถ Maserati 250F ในรอบสุดท้ายทรงอยู่ในอันดับที่ 3 ทรงได้อันดับที่ 4 และเป็นสถิติที่ดีที่สุดในการแข่งขันรถสูตรหนึ่งของพระองค์

จากนั้น ในปลายปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497) ทรงเลิกแข่งรถเอฟวัน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสายพระเนตรสั้น ต้องทรงฉลองพระเนตรแบบพิเศษ ทำให้เกิดปัญหาในการขับเวลาฝนตกอีกด้วย

พระประวัติ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ผลงาน
ภาพจาก : วิกิพีเดีย

ชีวิตสมรสของ พระองค์ชายพีระ

ด้านชีวิตส่วนพระองค์ของ พระองค์ชายพีระ ได้ เสกสมรสกับซิริล แมรี จอร์จีนา เฮย์คอค หรือ หม่อม ซิริล ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ชาวอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 กระทั่งทั้งคู่ได้แยกทางกันพักหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2492 เนื่องจากปัญหาความสัมพันธ์ที่ พระองค์ชายพีระ มีผู้หญิงเข้าหาพระองค์ อยู่บ่อยครั้ง หม่อมซิริลทำใจไม่ได้ที่พระองค์มีหญิงอื่น แม้จะไม่ทรงจริงจังด้วยนัก

ต่อมา พระองค์ชายพีระ ได้รับบาดเจ็บจากการแข่งรถ ที่ประเทศอาร์เจนตินา ก็ทรงพบกับ เซเลีย โฮวาร์ด ที่คอยดูแลรักษาอาการบาดเจ็บจนหายดี ทำให้ทั้งคู่เกิดความรู้สึกผูกพันธ์กัน จากนั้นพระองค์ชายพีระก็กลับอังกฤษด้วยกัน และประทับอยู่กับเธอ ไม่ได้เสด็จไปหาหม่อมซิริล

ทำให้ หม่อม ซิริล ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ตัดสินใจหย่าขาดจากพระองค์ตามกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2492 ส่วนด้าน พระองค์ชายพีระ ได้เสกสมรสกับเซเลีย ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2494 โดยในงานได้มี มีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และหม่อมเอลิสะเบธ จักรพงษ์ ณ อยุธยา เสด็จร่วมงานด้วย จากนั้นเซเลียใช้ชื่อว่า หม่อมชลิตา ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ในลำดับต่อไป

กระทั่งในปี พ.ศ. 2497 หม่อมชลิตา (เซเลีย) ได้ให้กำเนิดพระโอรสคนแรก พระองค์จึงตัดสินพระทัยอำลาชีวิตนักแข่ง แล้วทรงพาครอบครัวกลับมาประทับที่ประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2499 และจากนั้นก็ได้ตัดสินใจ หย่ากับหม่อมชลิตา โดยตกลงกันว่า พระโอรสคนเดียวให้อยู่ภายใต้การดูแลของหม่อมชลิตาจนอายุครบ 21 ปี

พระองค์ได้ตัดสินใจเสกสมรสกับสาลิกาในปี พ.ศ. 2500 หลังจากที่ พระองค์ได้ทรงพบปะกับ สาลิกา กะลันตานนท์ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินชาวไทย ทำให้เกิดความหึงหวงต่อหม่อมชลิตา จนเป็นเหตุให้ต่อแยกทางไปในที่สุด

จากนั้น พระองค์ชายพีระ ได้หย่าขาดกันกับ สาลิกา กะลันตานนท์ ในปี พ.ศ. 2506 และได้ทรงเสกสมรสกับ อรุณี จุลทะโกศล หรือ หม่อมอรุณี ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา และหย่าขาดกันในปี พ.ศ. 2507

ในเวลา 3 ปีต่อมา พระองค์เสกสมรสกับชวนชม ไชยนันท์ หรือ ชวนชม ไชยนันท์ ก่อนหย่าขาดกันในปี พ.ศ. 2523

ช่วงบั้นปลายชีวิต พระองค์ได้เสด็จไปยังประเทศอังกฤษอีกครั้ง เพื่อแวะหาอดีตหม่อมซิริล ในปี พ.ศ. 2526 กระทั่งสิ้นพระชนม์ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2528

ลำดับพระโอรสธิดาทั้งหมด 3 คน

  • หม่อมราชวงศ์พีรเดช ภาณุพันธุ์ (ราวพ.ศ. 2497 – พ.ศ. 2514) เกิดแต่เซเลีย โฮวาร์ด
  • หม่อมราชวงศ์ระพีพร บุญยะมาน (เกิด 28 มีนาคม พ.ศ. 2510) เกิดแต่ชวนชม ไชยนันท์
  • หม่อมราชวงศ์พีรานุพงศ์ ภาณุพันธุ์ (เกิด 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515) เกิดแต่ชวนชม ไชยนันท์

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : วิกิพีเดีย, ราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬา

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button