ข่าว

ครบรอบ 20 ปี “สึนามิ” คลื่นยักษ์ ถล่มชายฝั่งไทย 26 ธ.ค. 2547

ครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ “สึนามิถล่มไทย” บริเวณ 6 จังหวัดภาคใต้ และพื้นที่ อุทยานแห่งชาติเขาหลัก ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 โศกนาฏกรรมคลื่นยักษ์ รวมผู้เสียชีวิต ประมาณ 5,309 คน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งไทยและต่างประเทศ เตรียมจัดงาน “The Commemoration of the 20th Anniversary of Indian Ocean Tsunami” รำลึกครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ระหว่างวันที่ 26 – 27 ธันวาคม 2567 ณ จังหวัดพังงา

Advertisements

งานครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้สูญเสียและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยครั้งร้ายแรง พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในด้านระบบการบริหารจัดการและแจ้งเตือนภัยสึนามิ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับสึนามิที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันลดความเสี่ยงจากภัยสึนามิ ผ่านการเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือและบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุ มุ่งสู่เป้าหมายการผนึกกำลังทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง เพื่อสร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

คลื่นยักษ์สึนามิ ภัยพิบัติธรรมชาติ กระทบไทยเมื่อปี 2547

หลากหลายกิจกรรม ทั้งรำลึกผู้สูญเสีย – เสวนาวิชาการ – นิทรรศการให้ความรู้

ภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งพิธีรำลึกถึงผู้สูญเสีย การเสวนาวิชาการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนในพื้นที่ และการจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านการจัดการสาธารณภัย

วันที่ 26 ธันวาคม 2567

Advertisements

– พิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ

– พิธีรำลึกถึงผู้สูญเสียในโอกาสครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย

– การเสวนาวิชาการในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภัยสึนามิ อาทิ การสาธารณสุขและการแพทย์ฉุกเฉิน, ระบบการแจ้งเตือนภัย, งานวิจัยและนวัตกรรม, การส่งเสริมประชากรให้มีภูมิคุ้มกันจากภัยพิบัติ และการสร้างเมืองที่ปลอดภัยจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน โดยจัดขึ้น ณ โรงแรม เขาหลัก แมริออท บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา

วันที่ 27 ธันวาคม 2567

– พิธีรำลึกถึงผู้สูญเสีย ณ สวนอนุสรณ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม

– กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนบ้านน้ำเค็ม ผ่าน “เรื่องเล่าที่ชายฝา” และพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม เพื่อศึกษาแนวทางการก้าวข้ามผ่านความสูญเสีย และแสวงหาแนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย และสร้างชุมชนที่ปลอดภัยจากภัยพิบัติ

ย้อนรอยเหตุการณ์ สึนามิถล่มไทย พ.ศ. 2547

สำหรับไทม์ไลน์เหตุการณ์ “สึนามิ” ซัดคลื่นยักษ์ถล่มชายฝั่งทางภาคใต้ของประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อ วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 หลังเทศกาลวันคริสต์มาส์ ในเวลาช่วงเช้า ประมาณ 07.58 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) มีการตรวจพบว่า พื้นที่ทางตอนเหนือของหัวเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณนอกฝั่งด้านตะวันตก ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 580 กิโลเมตร เกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเล ขนาด 9.1-9.3

ทั้งนี้ เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว มีความรุนแรงเป็นอันดับที่สามตามที่เคยวัดได้จากเครื่องวัดแผ่นดินไหว และถือว่าเป็นแผ่นดินไหวที่มีคาบเวลายาวนานที่สุดโดยมีระยะห่างจากชายฝั่ง

ทว่าในช่วงเวลานั้น ประเทศไทย ยังไม่ได้มีการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณแจ้งเตือนคลื่นยักษ์ถล่มที่มีประสิทธิภาพ และไม่ได้ตระเตรียมแผนซ้อมรับมือกับสถานการณ์คลื่นยักษ์ซัดชายฝั่งมาก่อน ทำให้ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงภัยอันตรายที่กำลังย่างกรายเข้ามาอย่างเงียบ ๆ

มัจจุราชที่หลบซ่อนอยู่ในเกลียวคลื่นสวยงามซึ่งต่อมาภายหลังถูกเรียกว่า “สึนามิ” ที่มีความยาวมากกว่าคลื่นปกติ โดยจะะยกตัวสูงขึ้นเมื่อใกล้ถึงชายฝั่งและสามารถสูงได้ถึง 5-10 เมตร แทนที่จะเป็นคลื่นหัวแตก (breaking wave) โดยหนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ก่อนเกิดคลื่นยักษ์ น้ำทะเลบริเวณชายฝั่งจะลดลงเร็วอย่างผิดปกติ ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเพียงปรากฎการณ์น้ำลดที่เกิดขึ้นทั่วไป

ก่อนที่ต่อมาในเช้าวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 มวลน้ำสึนามิหลังจากที่พัดถล่มเกาะสุมาตราอินโดนีเซีย จะซัดชายฝั่งทางภาคใต้ของประเทศไทย ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล

ครบรอบ 19 ปี สึนามิ คลื่นยักษ์ ถล่มไทย

นอกจานี้ ยังได้เกิดเหตุการณ์สุดสลด บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาหลัก เมื่อประเทศไทยได้สูญเสีย คุณพุ่ม เจนเซน พระราชนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระโอรสใน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ด้วย

ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 ราย บาดเจ็บกว่า 8,000 ราย และมีผู้สูญหายอีกจำนวนมาก ภายหลังพบว่าบริเวณ ชายทะเลเขาหลักในอุทยานแห่งชาติเขาหลัก ลำรู่ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวเสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้คนไทยได้รับบทเรียนครั้งครั้งยิ่งใหญ่ และส่งผลให้เกิดการหาแนวทาง วิธีรับมือและเตรียมพร้อมกับการอพยพ หนีจากคลื่นยักษ์สึนามิ เพื่อใช้เป็นแนวทางการป้องกันหากเกิดเหตุการณ์ครั้งต่อไปในอนาคต

คลื่นยักษ์สึนามิ กระทบไทยเมื่อปี 2547
ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเนื้อหา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : www.phangngapao.go.th, กรมประชาสัมพันธ์, วิกิพีเดีย

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button