กรมราง แจงแล้ว รางนำไฟฟ้าสายสีชมพูร่วง ไม่ใช่รางรถไฟฟ้า เร่งหาสาเหตุ
กรมราง ตรวจสอบแล้ว รางนำไฟฟ้าสายสีชมพูร่วง ไม่ใช่รางรถไฟฟ้า เร่งหาสาเหตุเบื้องลึก ปิดถนนติวานนท์ขาเข้าถึงเที่ยงวัน ใช้รูปแบบการเดินรถสำรองแทน
จากกรณีรางรถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทางแคราย-มีนบุรี ร่วงหล่นจากคานคอนกรีตใส่รถยนต์เสียหาย 3 คัน และเสาไฟฟ้าเอียงล้ม หน้าตลาดกรมชลประทาน ถนนติวานนท์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี กระทั่งรถไฟฟ้าสายสีชมพู ประกาศปิดให้บริการ และเจ้าหน้าที่เร่งซ่อมแซม พร้อมปิดถนนติวานนท์ขาเข้าถึงเที่ยง ตามที่นำเสนอข่าวไปนั้น
ล่าสุด วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง หรือ ขร. พร้อมด้วย บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) ลงพื้นที่สถานีสามัคคี (PK04) เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รางที่ร่วงหล่นลงมาไม่ใช่รางรถไฟฟ้าสายสีชมพู แต่เป็นรางนำไฟฟ้า (Conductor rail) เป็นตัวจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งหลุดร่วงจากทางวิ่งลงพื้นถนน เป็นระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร ส่งผลให้สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) ไม่สามารถเปิดให้บริการได้
ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุเบื้องลึก ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู ปรับรูปแบบการเดินรถสำรอง เริ่มจากสถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 (PK08) ถึงสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK13) เดินรถแบบ Shuttle จำนวน 2 ขบวน Headway 10 นาที ส่วนสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK13) ถึงสถานีมีนบุรี (PK30) เดินรถแบบ Shortloop จำนวน 8 ขบวน Headway 10 นาที
ก่อนหน้านี้รถไฟฟ้าสายสีชมพูเคยขัดข้องเมื่อวันที่ 18 เดือนธันวาคม 2566 สาเหตุเกินจากรางนำไฟฟ้ามีปัญหาที่สถานีหลักสี่ปลายทางมีนบุรี ใช้เวลาแก้ไขรวม 17 นาที อีกทั้งรางนำไฟฟ้านี้ เคยเป็นสาเหตุที่ทำให้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ขัดข้องในช่วงทดลองเปิดให้บริการด้วยเช่นกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง