ครม. เคาะงบ 34,060 ล้าน หนุนใช้รถ EV3.5 หวังกระตุ้นธุรกิจ รถยนต์ไฟฟ้า
คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบ 34,060 ล้าน เดินหน้ามาตรการ EV3.5 ส่งเสริมผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค
นายเศรษฐา ทวีศิลป์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV3.5 วงเงินในระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ 2567 – 2570 ด้วยงบประมาณรวมทั้งสิ้น 34,060 ล้านบาท โดยมาตรการดังกล่าว จะเริ่มใช้จริงในวันที่ 2 มกราคม 2567
สำหรับงบประมาณดังกล่าว จะนำมาเพื่อใช้ดำเนินการตามมาตรการ EV3.0 ในส่วนที่ขาด และการอุดหนุนตามาตรการ EV3.5 โดยสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับมี 3 ส่วน ดังนี้
1. เงินอุดหนุน สำหรับเงินอุดหนุนจะเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดแบตเตอรี่ ครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
2. การลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูป
3. การลดอัตราภาษีสรรพสามิต
พร้อมทั้ง เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่เข้าร่วมมาตรการ EV3.0 แล้ว ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ให้สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ได้ ตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการ
ด้าน ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ EV3.0 สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ และผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการสามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ ทั้งนี้จะได้รับการสนับสนุนจากกรมสรรพสามิต ดังนี้
1. รถยนต์นั่ง (ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
1.1. สิทธิเงินอุดหนุน
ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 10 kWh แต่น้อยกว่า 50 kWh
- ปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน
- ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 35,000 บาท/คัน
- ปี 2569 – 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 25,000 บาท/คัน (เฉพาะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)
ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป
- ปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน
- ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 75,000 บาท/คัน
- ปี 2569 – 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน (เฉพาะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น)
1.2 สิทธิลดอัตราอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 40 (สำหรับรถที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568)
1.3 สิทธิลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 ในปี 2567 – 2570
2. รถยนต์นั่ง (ราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป จะได้รับสิทธิลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2
3. รถกระบะ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 0 ในปี 2567 – 2568 และอัตราภาษีร้อยละ 2 ในปี 2569 – 2570
4. รถจักรยานยนต์ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 150,000 บาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 1 ในปี 2567 – 2570
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ ต้องผลิตรถยนต์เพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 ของจำนวนนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) หรือผลิตชดเชยการนำเข้าภายในปี 2570 ในอัตราส่วน 1 : 3 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 3 คัน) เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ และผลักดันไทยให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคในอนาคต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หนุ่มใจดี เจอคนจอดรถยนต์ไฟฟ้าตรงจุดชาร์จ เสียบสายชาร์จให้เสร็จสรรพ คนขับมีหลั่งน้ำตา
- เปิดข้อดี ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ทำไมถึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในปี 2023
อ้างอิง : ไทยคู่ฟ้า, รัฐบาลไทย