ข่าว

รู้จัก วันเหมายัน 22 ธ.ค. 66 กลางคืนนานสุดในรอบปี เผยตำนาน “ตะวันอ้อมข้าว”

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ชี้ วันที่ 22 ธันวาคม 2566 เกิดปรากฎการณ์วันเหมายัน ช่วงเวลากลางคืนยาวนานที่สุด ซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูร้อน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์บนเฟซบุ๊กแฟนเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แจ้งว่าวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2566 คือ วันเหมายัน หรือ วันที่กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี (Winter Solstice) สอดคล้องกับตำนานประวัติวันคริสต์มาสเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองในช่วงฤดูหนาวที่กลางคืนจะยาวนานกว่าปกติอีกด้วย

สำหรับวันเหมายัน (อ่านว่า เห-มา-ยัน) เป็นวันที่มีช่วงเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี โดยในปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2566 ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกลับขอบฟ้าทางทิศตัวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด โดยคนไทยเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “ตะวันอ้อมข้าว”

22 ธันวาคม 2566 วันเหมายัน
ภาพจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ในแต่ละวัน ดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกลงมาทางใต้ สังเกตได้จากท้องฟ้าในช่วงนี้จะมืดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุดในวันเหมายันของแต่ละปี

วันดังกล่าวจึงมีเวลากลางคืนที่ยาวนานที่สุด และเวลากลางวันที่สั้นที่สุด ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06.36 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 17.55 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ วันเหมายันยังนับเป็นวันเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกใต้

สำหรับฤดูกาลที่เกิดขึ้นบนโลก เกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง สังเกตได้ว่าในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน แตกต่างกับฤดูหนาวที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน

ในระยะเวลา 1 ปีที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่

  • วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 เดือนมีนาคม
  • วันครีษมายัน (Summer Solstice) วันที่กลางวันยาวนานที่สุด อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 เดือนมิถุนายน
  • วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 เดือนกันยายน
  • วันเหมายัน (Winter Solstice) วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด อยู่ในช่วงวันที่ 20-23 เดือนธันวาคม

สำหรับวันเหมายันนั้น เป็นวันที่ช่วงเวลากลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน มักเกิดในช่วงเดือนธันวาคม ตรงกับช่วงฤดูหนาว ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับ วันครีษมายัน ที่เป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวนานกว่ากลางคืน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน ตรงกับช่วงฤดูร้อนนั่นเอง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Best Writer

นักเขียนบทความประจำ Thaiger จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มีความเชียวชาญด้านวงการเพลงไทย ภาพยนตร์ อนิเมะ ชื่นชมติดตามข่าวสารสังคม กีฬา เทคโนโลยี แตกประเด็น สรุปเรื่องราวมาร้อยเรียงผ่านข้อความสู่สายตาผู้อ่าน ช่องทางติดต่อ best.t@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button