จับพิรุธ ‘ลุงพล’ คดีน้องชมพู่ พบข้อสงสัย 4 ประการ ชี้ชัดว่าเป็นคนร้าย
ชี้เป้า 4 พิรุธจับผิด ลุงพล ในคดีน้องชมพู่ ก่อนเป็นหลักฐานสำคัญมัดตัวเอาผิด โดนโทษจำคุก 20 ปี
การพิพากษาในศาลชั้นต้นผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับคดีน้องชมพู่ มหากาพย์เด็กหายตัวปริศนาแห่งบ้านกกกอก ที่ส่งผลให้ นายไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล และ นางสมพร หลาบโพธิ์ หรือ ป้าแต๋น มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยหลักในคดีนี้
สำหรับผลการพิพากษาของศาลจังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ระบุว่าลุงพลมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 317 วรรคแรก ฐานกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี, พรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุสมควร จำคุก 10 ปี รวมทั้งสิ้น 20 ปี ส่วนป้าแต๋นยกฟ้องไป ทว่าทั้งคู่ก็ยังคงต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์
อย่างไรก็ดี จากคำพิพากษาพบว่าหลักฐานชี้ชัดมัดตัวคนร้ายว่าเป็นลุงพลนั้น มาจากพยานหลักฐานที่ทำให้ลุงพลดูเป็นบุคคลที่มีพิรุธมากที่สุดในคดีนี้ โดยหลัก ๆ แล้วพบว่ามีพยานหลักฐานที่อยู่ไม่ชัดเจน ให้การไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เข้าไปยุงกับพยานฝ่ายโจทก์ จนก่อให้เกิดความน่าสงสัยอันนำไปสู่การตรวจค้นรถและพบหลักเอาผิดชิ้นสำคัญในที่สุด
1. หลักฐานที่อยู่ไม่ชัดเจน
วันเกิดเหตุที่น้องชมพู่หายตัวไป เจ้าพนักงานสอบสวนได้จำกัดวงกลุ่มบุคคลใกล้ชิดและญาติสนิทที่เข้าข่ายว่าจะสามารถพาตัวน้องชมพู่ไปได้ มีทั้งหมด 14 คน โดยบุคคลจำนวน 13 คน สามารถยืนยันหลักฐานที่อยู่ได้อย่างชัดเจน ยกเว้นเพียงคนเดียวคือลุงพลที่ไม่สามารถยืนยันที่อยู่ของตัวเองได้ ตามคำพิพากษาความว่า
“ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 09.00 น. ผู้ตายเล่นอยู่บริเวณหน้าบ้านพักและมีเด็กหญิง ก. พี่สาวผู้ตายนอนเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อยุ่ใกล้เคียง กระทั่งเวลาประมาณ 09.50 น. เด็กหญิง ก. มองหาผู้ตายไม่เห็นจึงออกตามหา
ดังนั้น ผู้ตายต้องหายตัวไปก่อนช่วงเวลาดังกล่าว โดยเด็กหญิง ก. เบิกความว่าไม่ได้ยินเสียงผู้ตายร้องแต่อย่างใด เชื่อว่า คนร้ายที่พาผู้ตายไปต้องเป็นญาติหรือบุคคลใกล้ชิดในหมู่บ้านที่ผู้ตายรู้จักดี เนื่องจากผู้ตายจะร้องไห้หากถูกคนแปลกหน้าอุ้ม
เจ้าพนักงานตำรวจจึงสืบสวนกลุ่มบุคคลดังกล่าว 14 คน แบ่งเป็นญาติ 12 คน และบุคคลใกล้ชิด 2 คน พบว่า 13 คน มีหลักฐานยืนยันที่อยู่หรือตำแหน่งอ้างอิงจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ชัดเจน ยกเว้นจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่สามารถยืนยันที่อยู่ได้แน่ชัดในเวลาที่ผู้ตายหายตัวไป”
2. คำให้การมีจุดน่าสงสัย
ลุงพลให้การกับเจ้าหน้าที่ว่าในวันที่เกิดเหตุนั้น ตนต้องไปรับพระสงฆ์รูปหนึ่ง และได้ทราบข่าวเรื่องน้องชมพู่หายตัวไปเพราะป้าแต๋นโทรศัพท์มาบอก แต่ต่อมาภายหลังตรวจพบข้อเท็จจริงว่าครอบลุงพลและป้าแต๋นมีโทรศัพท์เครื่องเดียว จึงไม่มีทางที่ลุงพลจะรู้ข่าวการหายตัวไปของน้องชมพู่ผ่านการโทรศัพท์รายงานจากป้าแต๋นได้ โดยในคำพิพากษาระบุไว้ว่า
“จำเลยที่ 1 ให้การเป็นข้อพิรุธหลายอย่าง อาทิ จำเลยที่ 1 ให้การกับเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนว่า วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 มีนัดไปรับพระ ส. ที่วัดถ้าภูผาแอก ขณะเดินทำงไปวัด จำเลยที่ 2 โทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ตายหายตัวไป แต่ครอบครัวของจำเลยทั้งสองมีโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงเครื่องเดียวอยู่กับจำเลยที่ 2
จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จำเลยที่ 2 จะโทรศัพท์แจ้งเรื่องแก่จำเลยที่ 1 อีกทั้งพระ บ. ซึ่งจำวัดอยู่ที่วัดถ้าภูผาแอกเช่นกันยืนยันว่า วันดังกล่าว เวลำประมาณ 10.00 น. จำเลยที่ 1 เดินทางไปถึงวัดและพูดกับพระ บ. ว่า หลานหายเกือบไม่ได้ไปส่งพระ ทั้งที่ ในขณะนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตัวต้องยังไม่ทราบเหตุว่า ผู้ตายหายตัวไป”
3. กล่อมพยานฝ่ายโจทก์เพื่อให้การเท็จ
พยานฝ่ายโจทก์ให้การว่าเห็นลุงพลอยู่บริเวณใกล้เคียงจุดที่น้องชมพู่หายตัวไปในเวลาเดียวกับที่คนร้ายลงมือก่อเหตุ ซึ่งในระหว่างที่มีการสืบสวน ลุงพลได้ไปกล่อมพยานฝ่ายโจทก์ให้บอกเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม่ได้เห็นตนเองในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ซึ่งถ้าหากไม่ได้ทำผิดจริงก็ไม่น่าจะทำพฤติกรรมเช่นนี้
“พยานโจทก์ปากนาย ว. และนาง พ. ให้การในชั้นสอบสวนว่า พยานเห็นจำเลยที่ 1 อยู่บริเวณ สวนยางพาราซึ่งเป็นทางเดินที่สามารถเข้าถึงจุดที่ผู้ตายหายตัวไป ในช่วงเวลาที่คนร้ายลงมือกระทำความผิด
โดยขณะที่ มีการสอบสวนเรื่องนี้ จำเลยที่ 1 พยายามไปพูดคุยกับนาย ว. ให้ นาย ว. บอกเจ้าพนักงานตำรวจว่า นาย ว. พบจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลา 07.00 น. ไม่ใช่ช่วงเวลา ที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานตำรวจสงสัยจำเลยที่ 1
จึงเป็นข้อพิรุธว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิด เหตุใดต้องพูดจาในลักษณะดังกล่าวกับพยานที่ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ตามข้อเท็จจริงที่ตนรู้เห็น แม้ต่อมาในขณะสืบพยาน นาง พ. จะเบิกความว่า ตนไม่ได้เห็นจำเลยที่ 1 บริเวณสวนยางพารา แต่ก็เป็นการกลับคำภายหลังเกิดเหตุกว่า 2 ปี ซึ่งอาจทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 คำให้การในชั้นสอบสวนของนาง พ. จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่า”
4. พบหลักฐานสำคัญในรถยนต์
หลังจากเจ้าหน้าที่ตั้งข้อสงสัยว่าลุงพลเป็นคนร้ายในคดีน้องชมพู่ จึงมีการตรวจค้นรถยนต์ของลุงพลก่อนจะพบเส้นผม 1 เส้น ที่มีลักษณะเดียวกับเส้นผมของผู้ตาย ซึ่งตรวจพบว่าเป็นเส้นผมที่ถูกตัดในเวลาเดียวกัน ด้วยวัตถุมีคมชนิดเดียวกัน ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นฝีมือของลุงพล
“ภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจตั้งข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย จึงมีการเข้าตรวจค้นรถยนต์จำเลยที่ 1 พบเส้นผม 16 เส้น และวัตถุพยานอื่น โดยผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญปรากฏว่า
เส้นผม 1 เส้น ที่ตกอยู่ในรถยนต์จำเลยที่ 1 มีองศาของรอยตัด หน้าตัด และพื้นผิวด้านข้างตรงกันกับเส้นผมผู้ตาย 2 เส้น ซึ่งตรวจเก็บได้จากบริเวณที่พบศพผู้ตาย เส้นผมทั้ง 3 เส้น ดังกล่าว จึงถูกตัดในคราวเดียวกัน ด้วยวัตถุของแข็งมีคมชนิดเดียวกัน
เชื่อว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมผู้ตาย แต่ด้วยเหตุที่เส้นผม มีขนาดเล็กมาก จำเลยที่ 1 จึงไม่สังเกตว่ามีเส้นผมผู้ตายเส้นหนึ่งตกอยู่ในรถยนต์ของตน”
สำหรับคดีของน้องชมพู่นั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ปักใจเชื่อว่าลุงพลเป็นคนร้ายแต่แรก แต่ด้วยการรวบรวมพยานหลักฐานตามลำดับขั้นตอน ทุกอย่างก็บ่งชี้ไปว่าลุงพลเป็นคนร้ายในคดีนี้ จึงถูกศาลพิพากษาจำคุก 20 ปี ส่วนป้าแต๋นนั้นยกฟ้อง แต่ทั้งคู่ก็ยังต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งให้แก่โจทก์
อ้างอิงข้อมูลจาก : สื่อศาล