เปิดสาเหตุ เมืองพริบพรี ทำไมรอดสงคราม กรุงศรีแตก อยู่รอดเป็น ‘เพชรบุรี’ ปัจจุบัน
ทำความรู้จัก เมืองพริบพรี คือจังหวัดเพชรบุรีในปัจจุบัน เมืองที่ถูกกล่าวถึงในละครพรหมลิขิต ป้อมปราการหน้าด่านสำคัญในการรับศึกจากพม่าของกรุงศรีอยุธยา
อวสานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับละครที่เป็นกระแสตลอดหลายเดือนอย่าง พรหมลิขิต ละครภาคต่อของบุพเพสันนิวาส โดยในตอนจบครอบครัวของการะเกด ประกอบด้วย การะเกด พี่หมื่น พ่อริด พุดตาน รวมถึงบ่าวไพร่ทุกคนได้อพยพย้ายไปอยู่ที่เมืองพริบพรี ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะถูกพม่าตีแตกจนต้องเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 แต่เชื่อว่าแฟนละครหลายคนอาจจะเกิดข้อสงสัยว่าเมืองนี้ตั้งอยู่ที่ไหน แอบกระซิบว่าเมืองนี้คือจังหวัดเพชรบุรีในปัจจุบันนั่นเอง วันนี้ Thaiger จะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักอาณาจักรโบราณที่มีความสำคัญต่อการสถาปนากรุงศรีอยุธยากัน
ประวัติ เมืองพริบพรี อาณาจักรโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา
เมืองพริบพรี (จังหวัดเพชรบุรีในปัจจุบัน) เป็นเมืองขนาดย่อมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี เริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาภายใต้อาณาจักรทวารวดี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 จากนั้นเมื่ออิทธิพลของขอมเข้ามาเรืองอำนาจในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 16 จึงมีชื่อ พัชรปุระ หรือ วัชระปุระ ตามจารึกของขอม อีกทั้งยังปรากฎชื่อ ชัยวัชรปุระ ในช่วงที่พระเจ้าชัยวรมันเทพที่ 7 ขึ้นปกครองอาณาจักรขอมในช่วง พ.ศ. 1724-1763
เดิมนั้นเป็นเมืองหนึ่งในศูนย์กลางของพุทธศาสนา มีชื่อที่ชาวต่างชาติใช้เรียกเมืองเพชรบุรี อาทิ ชาวฮอลันดาเรียกว่า พิพรีย์ ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า พิพพีล์ และ ฟิฟรี จึงสันนิษฐานว่า เมืองพริบพรี เป็นชื่อเดิมของเมืองเพชรบุรี สอดคล้องกับชื่อวัดพริบพลี ที่เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัด จากการศึกษาเพิ่มเติมของนักประวัติศาสตร์ สามารถสันนิษฐานได้ว่า คือชื่อเดิมของจังหวัดเพชรบุรี บ้างก็ว่าอาจมาจากการเปรียบเทียบลักษณะเสียงของ เพชรบุรี บ้างก็ว่า พริบพรี เป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการ
อีกทั้งชื่อของเพชรบุรียังปรากฎอยู่ ศิลาจารึกหลักที่ 1 ตอนที่กล่าวถึงอาณาเขตของกรุงสุโขทัยที่อยู่ตอนใต้ ความว่า “…เบื้องหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว…”
ลักษณะของเมืองพริบพรี
ตามบันทึกราชวงศ์หยวนในปี พ.ศ. 1837 ระบุว่า “ก่าน มู่ ติง จากเมือง ปี้ ฉา ปู้ หลี่ ส่งทูตไปเยือนราชสำนักจีน พร้อมกับบรรณาการ” ซึ่ง ศ.ยอร์จ เซเดซ์ ได้ถอดความหมายข้อความดังกล่าวว่า ก่าน มู่ ติง หมายถึง กมรเตง ตำแหน่งขุนนางในภาษาเขมร มีศักดิ์เท่าเจ้าเมือง และ ปี้ ฉา ปู้ หลี่ หมายถึง เพชรบุรี ซึ่งสถานะของเมืองพริบพรีหรือเพชรบุรีในปี พ.ศ. 1837 เป็นเพียงนครรัฐ ไม่ใช่ รัฐดังเช่นกรุงสุโขทัย
เมืองพริบพรีจากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศ (ผ่องศรี วนาสิน และทิวา ศุภจรรยา) พบว่าบริเวณเมืองมีร่องรอยของแนวคูเมืองและกำแพงเมือง มีผังเป็นลักษณะรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความยาวของแนวคูเมืองและกำแพงเมืองแต่ละด้านยาวกว่า 1 กิโลเมตร มีแม่น้ำเพชรบุรีเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตก ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น หลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ คือ โบราณสถานของวัดกำแพงแลง ได้แก่ ปรางค์ศิลาแลง 5 องค์ ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมรโบราณแบบบายนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 -19 อีกทั้งพระเจ้าชัยวรมันเทพที่ 7 ยังได้ทรงประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาถไว้อีกด้วย
พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองพริบพรีเป็นที่ราบสูงมีภูเขาและป่าไม้ ห่างจากกรุงศรีอยุธยาประมาณ 600 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มไปจนจรดอ่าวไทย ทิศตะวันตกเป็นที่ราบสูงและเทือกเขาตะนาวศรีที่กั้นพม่าไว้ รวมทั้งมีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่าน จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีในการเป็นป้อมปราการป้องกันข้าศึกจากพม่า
ในสมัยอาณาจักรสุโขทัย รัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แม้ว่าจะมีอาณาเขตครอบคลุมถึงเพชรบุรี แต่ก็ถือว่ายังมีอิสระอยู่มาก สามารถส่งทูตไปเมืองจีนได้ ต้นวงศ์กษัตริย์เพชรบุรีในยุคสุโขทัย คือ พระพนมทะเลศิริ เป็นผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าพรหมแห่งเวียงไชยปราการ ราชวงศ์นี้ได้ครองเมืองเพชรบุรีจนถึงรัชสมัยพระเจ้าอู่ทอง จึงได้เสด็จไปสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และได้ขึ้นครองราชเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
เมืองพริบพรีสมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงช่วงเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2
เมื่อเข้าสู่ยุคกรุงศรีอยุธยา เมืองเพชรบุรีได้ขึ้นตรงต่ออยุธยาแบบศักดินาสวาภักดิ์ โดยมีขุนนางควบคุมเป็นขั้นขึ้นไป แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ทำให้มีอำนาจที่ส่วนกลางมากขึ้น ถึงกระนั้นเพชรบุรีก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอยุธยา ทำให้อำนาจส่วนกลางมีส่วนในการปกครองเพชรบุรีมากกว่าเดิม อีกทั้งเพชรบุรียังเป็นหัวเมืองสำคัญในการเป็นหน้าด่านรับศึกจากพม่า เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่มกว้างขวาง เหมาะกับการใช้ในการรบทั้งทางบกและทางทะเล รวมถึงการเป็นแหล่งสะสมสะเบียงของอยุธยาอีกด้วย เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก
ในสมัยพระมหาธรรมราชา เขมรได้ให้พระยาจีนจันตุยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรี แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ต่อมาพระยาละแวกได้ยกทัพมาด้วยตัวเองพร้อมไพร่พล 7,000 คน จึงทำให้สามารถตีเมืองเพชรบุรีแตกและได้ตกเป็นเมืองขึ้นของเขมร จนสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพตีเขมรสำเร็จ ทำให้เพชรบุรีได้รับการปลดปล่อย อีกทั้งพระองค์ดำได้โปรดปรานเมืองเพชรบุรีเป็นพิเศษ จึงได้เสด็จมาประทับเป็นเวลา 5 ปี ก่อนทรงยกทัพใหญ่ไปปราบพม่า และสวรรคตที่เมืองหาง
เจ้าเมืองเพชรบุรี และชาวเมืองเพชรบุรีได้รวบรวมแรงกำลังและแรงใจในการสู้รบปรบมือกับข้าศึกอยู่หลายครั้ง นับตั้งแต่สมัยพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเชษฐาธิราชและสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ โดยเฉพาะสมัยพระเทพราชา ที่ในช่วงนั้นต้องปราบปรามเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชที่แข็งเมือง พระยาเพชรบุรีได้เป็นกำลังสำคัญในการส่งสเบียงให้แก่กองทัพฝ่ายราชสำนักอยุธยา
ทำไมเมืองพริบพรีรอดอยู่รอด ช่วงกรุงศรีแตก
แม้ว่าจะไม่ได้มีบันทึกลายลักษณ์อักษรอธิบายตรง ๆ ถึงสาเหตุว่าทำไมเมืองพริบพรีถึงไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามพม่า อยุธยาที่นำไปสู่กรุงศรีอยุธยาแตก เสียเมืองครั้งที่ 2 แต่จากการค้นคว้าหลักฐานชั้นต้นหลายแหล่ง พอสรุปสาเหตุได้ว่า
ชัยภูมิที่ตั้งของเมืองซึ่งอยู่ล่วงลงมาทางใต้ห่างจากเมืองหลวงเกือบ 200 กิโลเมตร จึงไม่อยู่ในเส้นทางเดินทัพของพม่า ในสงครามครั้งนั้นข้างมังมหานรธา จงใจมาบุกกรุงศรีอยุธยาเพื่อตีให้แตกโดยเฉพาะ ดังจะเห็นได้จากการตั้งทัพล้อมเมืองนานกว่าขวบปี การทำลายเมืองเล็กอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในเส้นทางเดินทัพจึงไม่ใช่เป้าหมายสำคัญ
อีกทั้ง หากพม่าต้องการบุกเมืองเพชรบุรีจริง ก็อาจทำได้ยากเพราะ เมืองเพชรบุรีมีสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและป่าไม้หนาแน่น ยากแก่การเข้าถึง มีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่าน ทำให้เมืองเพชรบุรีมีระบบการป้องกันที่ดี จึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของอยุธยา ทำหน้าที่เป็นป้อมปราการทางใต้เพื่อป้องกันการรุกรานจากพม่า
อ้างอิง : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี, ททท. เพชรบุรี, วิกิพีเดีย, จังหวัดเพชรบุรี
อ่านข่าวทีเกี่ยวข้อง
- 3 เหตุผล แฟนละครผิดหวัง “พรหมลิขิตตอนจบ” บทไม่ดี เสียดายที่รอมาหลายปี
- บทสรุป พรหมลิขิตตอนจบ ชีวิตครอบครัวการะเกด พุดตาน เป็นอย่างไรหลังเสียกรุง