มีผลทันที “สินมั่นคงประกันภัย” ถูกสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยชั่วคราว
คปภ. มีคำสั่งให้ สินมั่นคงประกันภัย ยุติการรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลทันที เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัย
วันนี้ (18 ธันวาคม 2566) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ได้สรุปผลการประชุม สั่งให้บมจ. สินมั่นคงประกันภัย หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 นายทะเบียนได้มีคำสั่งให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามมาตรา 52 โดยให้เพิ่มเงินทุนและแก้ไขฐานะทางการเงิน เพื่อการครอบคลุมเพียงพอต่อภาระผูกพันของบริษัท โดยจะต้องมีเงินกองทุนเพียงพอตามข้อบังคับของกฎหมายภายใน 1 ปี ซึ่งต่อมาทางสินมั่นคงประกันภัยได้ขอยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ทว่าถูกยกอุทธรณ์ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้จากการพิจารณาพบว่า สินมั่นคงประกันภัยไม่ได้เพิ่มเงินทุนและแก้ไขฐานะการเงินตามคำสั่งของนายทะเบียน แต่กลับใช้กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 และขอยื่นขยายระยะเวลาแก้ไขเพิ่มเติม
ทำให้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ผลการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม โดยผู้ทำแผนได้ยื่นคัดค้านการนับคะแนนมติดังกล่าว ส่งผลให้ศาลล้มละลายต้องสั่งตรวจสอบกระบวนการใหม่ กระทั่งได้รับการยืนยันว่า มติดังกล่าวไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ยืดเยื้อมาถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ศาลล้มละลายได้มีคำสั่งออกมา ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของสินมั่นคงประกันภัย ทำให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ กลับไปเป็นของผู้บริหารของบริษัท และผู้ถือหุ้นได้รับสิทธิกลับมาตามกฎหมาย แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 90/74
ทั้งนี้ตรวจสอบพบว่า บริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และมีเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนทั่วไปได้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว คปภ. จึงมีมติสั่งให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว โดยมีผลทันที
ส่งผลให้ทาง คปภ. สามารถเข้าไปควบคุมการจ่ายเงินของบริษัท พร้อมเข้าตรวจสอบสำนักงานตัวแทนหรือสาขาได้ เพื่อป้องกันไม่ให้นายหน้าขายกรมธรรม์ในระหว่างที่มีคำสั่งหยุดการรับประกันวินาศภัยชั่วคราวนี้.