ข่าว

ดีอี เตือน ข่าวปลอม 10 อันดับ คนไทยสนใจสูงสุด เช็กให้ชัวร์ ก่อนหลงเชื่อ

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิด 10 อันดับข่าวปลอม คนไทยสนใจมากที่สุด ฝากเตือนประชาชนตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้าน อย่าส่งข้อมูลแบบผิด ๆ

นอกจากมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบคอลเซ็นเตอร์ เฟคนิวส์ทั้งหลายต่างก็เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมเช่นกัน วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2566 นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ เปิดผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 8 – 14 ธันวาคม 2566

ข้อความที่เข้ามาทั้งหมดมีจำนวน 1,201,629 ข้อความ มีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) 124 ข้อความ ส่วนช่องทางที่พบการแจ้งเบาะแสมากที่สุดคือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 114 ข้อความ รองลงมาคือ การแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 10 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 82 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 50 เรื่อง

เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้น ๆ ในสัปดาห์ล่าสุดพบว่า ข่าวปลอมส่วนใหญ่เป็นข่าวเรื่องนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และกลุ่มเศรษฐกิจ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่องเซรั่มวิเศษลดเลือนริ้วรอย หยดเดียวตีนกาหาย

อันดับที่ 2 : เรื่องชวนร่วมลงทุน CPALL เริ่ม 1,000 บาท รับ 390 ต่อวัน ผ่านเพจเฟซบุ๊ก

อันดับที่ 3 : เรื่องตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับ CPALL เปิดให้ลงทุน 1,000 บาท ปันผล 10 – 25% ต่อวัน

อันดับที่ 4 : เรื่องเช็กว่าเป็นโรคหลอดเลือดตีบที่สมองด้วยตนเอง เพียงแค่ยืนและก้มศีรษะ

อันดับที่ 5 : เรื่องเพจเฟซบุ๊กชวนลงทุนกองทุนระยะสั้น (รายวัน) เริ่มต้นที่ 1,289 บาท ปันผลกำไร 10 – 15%

อันดับที่ 6 : เรื่องคดีความใดที่เกี่ยวกับกรมสรรพากร ทางกรมฯ สามารถอายัดบัญชีธนาคารได้ โดยไม่ต้องขอคำสั่งจาก ศาลเมื่อมีคนร้องทุกข์

อันดับที่ 7 : เรื่องเพจเฟซบุ๊กใหม่ของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม

อันดับที่ 8 : เรื่อง ปตท. รายได้สูงถึง 3 ล้านล้านบาทต่อปี แต่นำส่งเข้ารัฐแค่ 1% เท่านั้น

อันดับที่ 9 : เรื่อง th.gold362.com/main/home เป็นเว็บไซต์ใหม่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อันดับที่ 10 : เรื่องรัฐบาลเก็บภาษี 30% สำหรับบุคคลที่ไม่มีสามี

ข่าวปลอม เซรั่มวิเศษ
ภาพจากเว็บไซต์ : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย

นายเวทางค์ระบุด้วยว่า ดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วยข่าวปลอมกลุ่มต่าง ๆ มีรายละเอียดดังนี้

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 53 เรื่อง อาทิ ปลัดกระทรวงแรงงาน เตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ เริ่ม 1 ม.ค. 67 เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 13 เรื่อง อาทิ เซรั่มลดเลือนริ้วรอย หยดเดียวตีนกาหาย เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 2 เรื่อง อาทิ ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน 66 พื้นที่ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นต้น

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 14 เรื่อง อาทิ จีน-ไทย ร่วมสร้างโซลาร์ฟาร์มบนหลังคาโรงงานใหญ่สุดในประเทศ เป็นต้น โดย แบ่งเป็นเรื่องการหลอกลวงธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 12 เรื่อง

จากกระแสข่าวปลอมที่แพร่ระบาดในสังคม กระทรวงดีอีจึงขอให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย เพราะหากขาดความรู้เท่าทัน และส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม จะทำให้ได้รับข้อมูลกันแบบผิด ๆ และส่งผลกระทบกับประชาชนที่หลงเชื่อข่าวปลอม

ประชาชนทุกท่าน สามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่เว็บไซต์ antifakenewscenter.com และสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง

อ้างอิง : รัฐบาลไทย

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button