ข่าวข่าวการเมือง

iLaw เปิดที่มาคดี 112 ‘ไอซ์ รักชนก’ ลุ้นพรุ่งนี้ 13 ธ.ค. ศาลฟันผิดจริง พ้น ส.ส. ทันที

เพจ iLaw เปิดจุดเริ่มต้นคดี ไอซ์ รักชนก พรรคก้าวไกล โดนฟ้อง 112 ฟังคำพิพากษาพรุ่งนี้ 13 ธันวาคม 2566 หากศาลอาญาฟันผิดจริงพ้นตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันที

วันที่ 12 ธ.ค.66 เฟซบุ๊กแฟนเพจ iLaw ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีความของไอซ์ รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล หลังจากวันพรุ่งนี้ (13 ธ.ค.) มีนัดฟังคำพิพากษาของศาลอาญา ในคดีที่ถูกฟ้องเอาผิดมาตรา 112 ในเวลา 9.00 น.

Advertisements

ทั้งนี้ ไอซ์ รักชนก ถูกดำเนินคดีจากการทวีตและรีทวีตข้อความของผู้อื่นรวม 2 ข้อความบนทวิตเตอร์ โดยคดีนี้หากศาลตัดสินว่ามีความผิดและสั่งลงโทษจำคุก โดยไม่ให้ประกันตัวหรือให้เข้าเรือนจำเพื่อรอคำสั่งประกันตัว จะทำให้ ไอซ์ รัชนก จะต้องหลุดออกจากตำแหน่งสส. โดยทันที

ขณะเดียวกันทางเพจไอลอว์ยังได้มีการลงข้อมูลถึงจุดเริ่มต้นคดี 112 ของนางสาวรัชนก โดยระบุว่า เริ่มจากเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 มณีรัตน์ เลาวเลิศ ประชาชนทั่วไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้แอคเคาท์ทวิตเตอร์ชื่อ “ไอซ์” หรือ @nanaicez กรณีพบแอคเคาท์ทวิตเตอร์ดังกล่าวทวีตและรีทวีตข้อความและรูปภาพจํานวน 2 โพสต์ ได้แก่ ทวีตที่เกี่ยวข้องการผูกขาดวัคซีนโควิด 19 และแคมเปญ #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดํา” โพสต์นี้มีภาพประกอบซึ่งภายในภาพเป็นลักษณะคนถือป้ายข้อความว่า “ทรราช (คํานาม) TYRANT ; ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อํานาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง”

อีกข้อความหนึ่งเป็นการรีทวีตจากทวิตเตอร์ที่ชื่อว่า นิรนาม โพสต์ไว้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 เป็นภาพป้ายข้อความที่หน้าทำเนียบรัฐบาลว่า เราจะไม่เป็นไท และเขียนข้อความประกอบว่า “เราจะไม่เป็นไทจนกว่ากษัตริย์จะถูกแขวนคอด้วยลำไส้ของขุนนางคนสุดท้าย” ที่เป็นคำกล่าวของเดอนีส์ ดิเดโรต์ นักปรัชญาฝรั่งเศส และมีแฮชแท็กประกอบ

จากนั้นมีบุคคลอื่นรีทวีตของนิรนามประกอบข้อความอีกหนึ่งครั้งและแอคเคาท์ที่เป็นเหตุในคดีนี้จึงรีทวีตข้อความของทั้งสองแอคเคาท์ดังกล่าว

จากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่น่าเชื่อว่า ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวคือ ไอซ์ พนักงานสอบสวนบก.ปอท.จึงออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ในชั้นสอบสวนเธอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยหลังเสร็จกระบวนการไม่ได้มีการยื่นคำร้องขอฝากขัง

Advertisements

ต่อมา วันที่ 23 มีนาคม 2565 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญา ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณาด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการหรือเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา และให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ในชั้นศาลไอซ์ให้การปฏิเสธ เธอสู้คดีว่ามีคนส่งรูปไปในกลุ่มไลน์ โดยในภาพที่ส่งนั้นไม่ใช่ข้อความที่ตนโพสต์แต่มีชื่อแอคเคาท์ของตนติดอยู่ จากนั้นก็มีผู้นำภาพข้อความดังกล่าวไปแจ้งความ ซึ่งก็ได้พิสูจน์ไปว่าไม่ใช่คนทวีต โดยส่วนตัวไอซ์มองคดีที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า หลักฐานอ่อนมาก มีเพียงภาพใบเดียว ไปหาหลักฐานโพสต์ต้นทางก็ไม่เจอ

ระหว่างการพิจารณาทนายจำเลยยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 14 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่ ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยเห็นว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง

ทั้งนี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ศาลอาญานัดไอซ์ฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณา 807.

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button