รศ.ดร.เสรี เผย หลังคริสมาสต์ยาวถึงปีใหม่ อากาศไม่หนาว เตรียมรับมือค่าไฟ
นักวิชาการเผย ตั้งแต่คริสมาสต์ยาวถึงปีใหม่ และตลอดเดือนมกราคมปีหน้า อากาศประเทศไทยไม่หนาวแล้ว ร้อนสุดช่วงเดือนเมษายน เตรียมรับมือร้อนแล้งและค่าไฟ
แม้จะเข้าสู่ช่วงเดือนสุดท้ายของปี แต่ประชาชนชาวไทยก็ไม่มีทีท่าจะได้ใส่เสื้อกันหนาวแม้แต่น้อย ทว่าอุณหภูมิกลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์หัวข้อ “บอกลาหน้าหนาวเดี๋ยวมาแล้วไป แต่จะร้อนมากกว่าตลอดปี”
รศ.ดร.เสรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ระบุว่า “ช่วงสัปดาห์หน้าตั้งแต่วันเสาร์ที่ 9 – 15 ธันวาคม สภาพอากาศจะร้อนกว่าปกติ จากผลพวงจากปรากฏการณ์ El Nino ที่มีกำลังแรงในช่วงปลายปีจนถึงต้นปีหน้า มหาวิทยาลัยรังสิตรับปริญญาหน้าหนาว แต่ต้องเตรียมรับร้อนด้วยโดยเฉพาะช่วงบ่ายระวังสุขภาพกันด้วยครับ
อย่างไรก็ตาม มีบางช่วงที่อากาศเย็นจะลงมาชั่วคราว จากความกดอากาศสูงจากแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 18 – 25 ธันวาคม กำลังเย็นสบาย ไม่หนาวเหมือนช่วงวันที่ 17 – 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และจะไม่หนาวเหมือนกับปีที่ผ่านมาในอดีต
หลังจากนั้นตั้งแต่วันคริสมาสต์ปีนี้จนถึงปีใหม่ ตลอดทั้งเดือนมกราคมปี 2567 สภาพอากาศจะร้อนขึ้นมาอีก และจะร้อนที่สุดเดือนเมษายน ทั้งร้อนและแล้ง ทั้งฝุ่น PM2.5 ทั้งไฟป่า ต้องเตรียมรับมือกันให้พร้อม โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพตามที่ COP28 มีการหารือกัน ชาวนา เกษตรกร วางแผนการใช้น้ำ ชุมชนเมืองเตรียมจ่ายค่าไฟแพงขึ้น แต่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นเท่าค่าไฟน่ะจะบอกให้”
หลังจากโพสต์ถูกเผยแพร่ มีผู้ใช้งานเข้ามาสอบถามเรื่องปริมาณน้ำฝนช่วงปี 2567 ซึ่งรศ.ดร.เสรี ก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การคาดการณ์ล่วงหน้าปัจจุบัน พบปริมาณฝนต้นฤดูจะน้อยกว่าปกติ กล่าวคือฤดูแล้งจะยาวขึ้น ส่วนปริมาณฝนเมื่อเข้าสู่กลางถึงปลายฝน ยังมีความไม่แน่นอน ต้องติดตามสถาการณ์ต่อไป
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.เสรี ได้คาดการณ์ว่าช่วงเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว แต่สภาพอากาศจะร้อน อีกทั้งปริมาณน้ำฝนรายฤดูกาลจะไม่แน่นอน เนื่องจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ ด้วยเหตุนี้จึงขอให้เกษตรกรติดตามการประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบกับภาคเกษตรกรรมได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง