กพท.แจงแล้ว ปมผู้โดยสารการบินไทย ซื้อตั๋วชั้นธุรกิจ แต่ได้ที่นั่งชั้นประหยัด
กพท. ตรวจสอบการบินไทย กรณีผู้โดยสารซื้อตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจ แต่ได้ที่นั่งชั้นประหยัด เผยบินทดแทนเส้นทางบินของไทยสมายล์ แก้ไขระบบการจองบัตรโดยสารในเว็บไซต์แล้ว
จากประเด็นร้อนในโซเชียล เมื่อผู้โดยสารท่านหนึ่ง ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอแชร์ประสบการณ์ หลังจองตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจ (Business Class) ของการบินไทย ให้กับคุณพ่อและคุณแม่ รวมเป็นเงินกว่า 7 หมื่นบาท แต่เมื่อส่งภาพมาให้กลับเป็นเก้าอี้ชั้นประหยัด (Economy Class) 3 ตัวติดกัน โดยเว้นที่ตรงกลางไว้ ซึ่งคลิปวิดีโอดังกล่าวมีผู้เข้าชมหลักล้านคน
ล่าสุด วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. ออกมาชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้น ผ่านเฟซบุ๊ก CAAT – The Civil Aviation Authority of Thailand ระบุว่า CAAT ตรวจสอบกรณีผู้โดยสารสายการบินไทยซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินชั้นธุรกิจแต่ได้ที่นั่งชั้นประหยัด
จากข้อร้องเรียนของผู้โดยสารสายการบินไทยที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ กรณีซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินชั้นธุรกิจแต่ได้ที่นั่งชั้นประหยัดนั้น เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2566 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ในฐานะหน่วยงานกำกับ ดูแล ควบคุม และส่งเสริมการดำเนินงานของกิจการการบินพลเรือนให้เป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรฐานสากลจึงได้ประชุมร่วมกับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจการบิน โดยทำการบินทดแทนสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งปัจจุบันสายการบินไทยได้ทยอยทำการบินทดแทนเส้นทางบินต่าง ๆ ของสายการบินไทยสมายล์ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส A320 อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนการให้บริการรูปแบบใหม่
โดยบัตรโดยสารแบบ Smile Plus ที่สายการบินไทยสมายล์เคยให้บริการนั้น สายการบินไทยได้ปรับเปลี่ยนเป็นบัตรโดยสารแบบ Silk Class ด้วยการเพิ่มบริการต่าง ๆ ให้เทียบเท่ากับบัตรโดยสารแบบชั้นธุรกิจ (Business Class) ของสายการบินไทย เช่น เพิ่มน้ำหนักกระเป๋า 40 กิโลกรัม ให้บริการช่องเช็คอินและเกท สามารถพักผ่อนที่เลาจ์ ณ สนามบิน บริการอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบิน เป็นต้น
แต่ยังคงใช้ที่นั่งแบบชั้นประหยัด (Economy Class) ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารด้วยการเว้นที่นั่งตรงกลางไว้ อย่างไรก็ตาม การจัดจำหน่ายบัตรโดยสารแบบ Silk Class ในช่วงแรก บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แจ้งข้อมูลเรื่องการให้บริการรวมถึงรูปแบบการจัดที่นั่งอย่างชัดเจน จึงส่งผลต่อการเลือกซื้อบัตรโดยสารของผู้ใช้บริการ
2. การบินไทยได้รับทราบถึงข้อร้องเรียนของผู้โดยสาร และได้ติดต่อไปยังผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว พร้อมเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาให้ผู้โดยสารแล้ว
3. การบินไทยได้ตรวจสอบผู้โดยสารที่ซื้อบัตรโดยสารแบบ Silk Class ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2566 พบว่า ผู้โดยสารซื้อบัตรโดยสารในคลาสนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เท่านั้น ซึ่งสายการบินไทยจะติดต่อผู้โดยสารเรื่องข้อมูลการเดินทางและรายละเอียดการให้บริการที่ผู้โดยสารจะได้รับ หากไม่เป็นไปตามที่ผู้โดยสารคาดหวัง สายการบินไทยจะพิจารณาปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหรือคืนเงิน ค่าโดยสารตามความต้องการของผู้โดยสาร โดยจะเริ่มต้นจากเส้นทาง กรุงเทพฯ – เกาสงก่อน
4. สำหรับการให้บริการในอนาคต การบินไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงบริการให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการปรับแผนการจำหน่ายบัตรโดยสาร เพื่อให้สามารถใช้อากาศยานแบบแอร์บัส A320 ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งบริษัทฯ จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบในการเปลี่ยนแปลงต่อไป
ในการนี้ CAAT ได้กำชับให้การบินไทยประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เพื่อประโยชน์ของผู้โดยสารในการเลือกใช้บริการตามความคาดหวังต่อไป
5. การบินไทยได้ดำเนินการแก้ไขระบบการจองบัตรโดยสารในเว็บไซต์แล้ว เพื่อให้ผู้โดยสารทราบบริการและลักษณะที่นั่งตรงตามประเภทบัตรโดยสารที่เลือกซื้อ
6. CAAT เน้นย้ำให้การบินไทย ให้ความสำคัญเรื่องการแจ้งเงื่อนไขบัตรโดยสารให้ผู้โดยสารรับทราบ ขณะเลือกซื้อบัตรโดยสาร ดังนั้น CAAT จึงกำหนดให้การบินไทยปรับปรุงวิธีการขายบัตรโดยสาร โดยต้องระบุบริการที่ชัดเจน และจัดทำแนวทางการเยียวยาผู้โดยสารส่งให้ CAAT พิจารณา เมื่อผ่านการพิจารณาแล้วให้บริษัทฯ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบต่อไป
หลังจากคำชี้แจงถูกเผยแพร่ ชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นและแชร์โพสต์เป็นจำนวนมาก ชาวเน็ตส่วนใหญ่มองว่า ปัญหาอยู่ที่การออกกฎการให้บริการที่ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้โดยสารเกิดความเข้าใจผิด
นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่า สาเหตุที่เลือกใช้บริการที่นั่งชั้นธุรกิจ เนื่องจากเห็นว่าเรื่องที่นั่งเป็นเรื่องสำคัญ และอยากได้ความสะดวกสบายจากตรงนี้ อีกทั้งราคาค่าตั๋วเครื่องบิน 7 หมื่นบาทเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง ผู้โดยสารควรได้รับทั้งความกว้างของที่นั่งและความเป็นส่วนตัวนั่นเอง