‘ทนายแก้ว’ โพสต์ติง ‘อาจารย์ดัง’ หลังโพสต์เหน็บค่าทนาย ชี้ไม่ให้เกียรติกัน

ทนายแก้ว โพสต์ติง อาจารย์ดัง โพสต์เหน็บค่าทนาย หลังแพ้คดีกับหนุ่ม กรรชัย ชี้ไม่ให้เกียรติกันและไม่น่ารัก ถามทำไปทำไม?
ดร.มนต์ชัย จงไกรรัตนกุล หรือ ทนายแก้ว โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นหลังจากที่ศาลพิพากษาให้ หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย พิธีกรชื่อดังชนะคดีอาจารย์ดัง ก่อนที่อาจารย์ดังจะโพสต์ทำนองเย้ยเรื่องค่าทนาย ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
โดย ดร.มนต์ชัย ระบุว่า “วันนี้เห็นโลกโซเชียลปั่นปวน คดีความที่คุณหนุ่มกรรชัยฟ้อง อาจารย์ดังที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นั้น โดยมีข้อความบางตอนที่อีกฝ่ายโพลต์(สาธารณะ)เขียนทำนองว่า …ค่าทนายความจำนวน 5,000 บาท ที่ศาลสั่ง ทนาย(6คน)แบ่งได้คนละ 833บาท นั้น
ผมในฐานะกรรมการอำนวยการสำนักอบรมวิชาว่าความ , ที่ปรึกษากรรมการช่วยเหลือฯ และรองประธานคณะกรรมการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอปกป้องอาชีพทนายความ
ผมขออนุญาตพูดสักหน่อยว่า…ตลอดระยะเวลาที่เป็นทนายความว่าความ ขึ้นโรงขึ้นศาล มาร่วมจะ 30 ปี แล้วว่า…เมื่อศาล(หมายถึงศาลยุติธรรม)พิพากษา, เราในฐานะโจทก์หรือจำเลยก็ต้องเคารพในคำพิพากษาของศาลครับ จะไปวิพากษ์วิจารณ์หรือนำคำพิพากษาไปพูด หรือสร้างความวุ่นวายไม่ได้ครับ อาจจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้
เพราะท่านผู้พิพากษา(ศาล)ได้ตัดสินคดีตามพยานหลักฐานแล้ว และเป็นไปตามหลักกฏหมาย โดยไม่ได้เอนเอียงไปในทางใด และถือว่าคดีเสร็จเด็ดขาดในศาลชั้นต้น ดังนั้นสิ่งเดียวที่ทนายความหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ทำได้ก็คือ การอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลสูงตามลำดับต่อไป
** กับทั้งในขณะที่ศาลอ่านคำพิพากษา เราในฐานะคู่ความ ก็ต้องทราบแล้วว่าเหตุที่โจทก์นำคดีไปฟ้องอ้างฐานความผิดอะไร? แล้วเราสู้ว่าอย่างไร? ก็ต้องมาพิจารณาที่ข้อกล่าวหาเป็นหลักสิครับ หรือตามประสากฎหมายที่เรียกว่า(ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา) ดังนั้น
หากศาลพิพากษาว่าคุณละเมิด ก็แสดงชัดว่า คุณไปละเมิดเขา แต่การที่ศาลใช้ดุลพินิจพิพากษาในส่วนเหตุอื่น หรือตัดคำขอบางข้อไปเช่น โจทก์ขอลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น แต่ศาลไม่พิพากษาหรือสั่งให้ ก็ล้วนเป็นดุลพินิจของศาลทั้งสิ้น แล้ว อีกฝ่ายกลับจะไปประกาศได้อย่างไรว่า คดีของคุณชนะ
ทั้งๆศาลพิพากษาว่าคุณละเมิด และการที่ไปโพลต์เขียนในทำนองว่า…ค่าทนายความที่ศาลสั่งให้จ่าย5,000บาท นั้นทีมทนาย6คนไปแบ่งกันคนละ833บาท ซึ่งตามปกติแล้วทนายความก็ทำหน้าที่กันไปจะแพ้หรือชนะคดีก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับลูกความ ฝ่ายตรงข้าม ก็ไม่ควรไปพูดถึงส่วนแบ่ง ค่าทนายความที่ศาลพิพากษาเลย
มันไม่น่ารักและไม่เหมาะสมจริงๆ เพราะอาชีพทนายความ ถือเป็นงานวิชาชีพที่มีเกียรติ ต่างฝ่ายก็ต่างทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่
การที่ศาลจะสั่งค่าทนายความเท่าไหร่? เป็นไปตามกฏหมาย
งงในงง แล้วทำไม?จะต้องไปพูดแบบมีเจตนาซ่อนเร้นหรือสร้างประเด็นเกี่ยวกับเงินค่าทนายความ 5,000บาทบาทด้วย โดยทนายได้คนละ833บาท
มันเหมือนเหน็บๆ ดูถูกกัน ไม่ทราบคนเห็นคนอ่านแล้วรู้สึกอย่างไร? แต่สำหรับผมรู้สึกว่า ผู้พูดมีเจตนา สื่อให้เห็นว่า ทนายความได้เงินน้อยมากๆ ไม่ให้เกียรติกัน”