ข่าว

สภากาชาดไทยแจงแล้ว ไม่ได้จำหน่ายโลหิต แต่เป็นการคิดค่าบริการ

สภากาชาดไทย ชี้แจงต้นทุนในการจัดเตรียมโลหิต ไม่ได้จำหน่ายโลหิตบริจาค แต่เป็นการคิดค่าบริการที่กำหนดโดยกรมบัญชีกลาง หลังมีประเด็นดราม่าโรงพยาบาลคิดค่าเลือด

จากประเด็นร้อนบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ (X) เนื่องจากผู้ใช้งานรายหนึ่งออกมาโพสต์ข้อความเรื่องการบริจาคเลือด โดยระบุว่าสภากาชาดรับบริจาคเลือดจากประชาชนไปฟรี ๆ แต่ไม่มีใครได้เลือดฟรียามเจ็บป่วย เพราะเมื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ และจำเป็นต้องใช้เลือด ทางโรงพยาบาลกลับจำหน่ายให้กับผู้ป่วยในราคาถุงละ 2,100 บาท

ล่าสุด วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2566 สภากาชาดไทย ออกมาชี้แจงต้นทุนในการจัดเตรียมโลหิตให้มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยในการรักษาทั่วประเทศ ระบุว่า “โลหิตที่ได้รับจากการบริจาคที่นำไปรักษาผู้ป่วยจะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่มีค่าบริการที่เกิดจากค่าใช้จ่ายในกระบวนการ

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ให้บริการโลหิตและส่วนประกอบโลหิตแก่โรงพยาบาล เพื่อใช้รักษาผู้ป่วย โดยมิได้จำหน่ายหรือคิดค่าโลหิตซึ่งได้รับจากการบริจาคโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนของผู้บริจาคโลหิตทั่วประเทศ

เพื่อให้การซื้อขายโลหิตในประเทศหมดไปตามหลักการขององค์การอนามัยโลกและหลักการกาชาดสากล ตามปณิธานที่สภากาชาดไทยเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ทั้งนี้ โลหิตที่ได้รับจากการบริจาคที่นำไปรักษาผู้ป่วยจะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่มีค่าบริการที่เกิดจากค่าใช้จ่ายในกระบวนการ ดังนี้

1. ค่าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ในการรับบริจาคโลหิต เช่น ถุงบรรจุโลหิต หลอดเก็บตัวอย่างโลหิต น้ำยาตรวจค่าความเข้มข้นเลือด น้ำยาตรวจหมู่เลือด เป็นต้น

2. ค่าใช้จ่ายการผลิตส่วนประกอบโลหิต ในการปั่นแยกโลหิตให้เป็นส่วนประกอบโลหิตชนิดต่าง ๆ ได้แก่ เม็ดเลือดแดงเข้มข้น (Packed red cells) พลาสมา (Plasma) เกล็ดเลือด (Platelets) เป็นต้น

3. ค่าใช้จ่ายในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ค่าตรวจหมู่โลหิตเอบีโอ (ABO) ค่าตรวจหมู่โลหิตระบบอาร์เอช (Rh) ค่าตรวจกรองแอนติบอดี (Antibody screening) ค่าตรวจภาวะการติดเชื้อที่สามารถติดต่อทางการให้เลือด ได้แก่ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสเอชไอวี และซิฟิลิส โดยการตรวจวิเคราะห์ทางซีโรโลยี และวิธี Nucleic Acid Test (NAT)

4. ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาส่วนประกอบโลหิตชนิดต่าง ๆ และการขนส่ง เช่น ตู้เย็นเก็บเม็ดเลือดแดง 1 – 6 องศาเซลเซียส ตู้เก็บเกล็ดเลือด 20-24 องศาเซลเซียสที่ต้องเขย่าตลอดเวลา ตู้แช่แข็งพลาสมา -20 องศาเซลเซียส เป็นต้น อีกทั้งต้องรักษาอุณหภูมิของส่วนประกอบโลหิตชนิดต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน Blood cold chain ตลอดระยะเวลาขนส่งจากต้นทางจนถึงปลายทาง

5. ค่าใช้จ่ายในการควบคุมคุณภาพ ตามระบบ ISO และ GMP ที่เกี่ยวข้อง

โดยอัตราค่าบริการโลหิต จะถูกกำหนดโดยกรมบัญชีกลาง ซึ่งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะนำมาเทียบเคียงให้เทียบเท่าหรือต่ำกว่าเกณฑ์กลางตามความเหมาะสมกับการบริการโลหิตทุกประเภท

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายด้านอาคารสถานที่ รถออกหน่วยเคลื่อนที่ เครื่องมือ ครุภัณฑ์ บุคลากรสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและค่าดำเนินการสนับสนุนอื่น ๆ ที่รวมแล้วจะสูงกว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บ โดยส่วนที่ขาดศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะรับผิดชอบทั้งหมด ประกอบกับได้รับงบประมาณดำเนินการบางส่วนจากรัฐบาลมาช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มิได้จำหน่ายโลหิตบริจาค แต่มีการคิดค่าบริการ ตามต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมโลหิตให้มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ต้องรับโลหิตในการรักษา โดยกำหนดค่าบริการโลหิตให้โรงพยาบาลเป็นอัตราเดียวกันทุกโรงพยาบาลทั้งรัฐบาลและเอกชน มีการใช้อัตราค่าบริการ
จากกรมบัญชีกลาง

ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะมีการคิดค่าใช้จ่ายตามต้นทุนในการจัดเตรียมโลหิตให้กับผู้ป่วยเพิ่มเติม ตามอัตราที่แต่ละโรงพยาบาลกำหนด”

สภากาชาดไทย ชี้แจงต้นทุนในการจัดเตรียมโลหิต

หลังจากสภากาชาดออกมาชี้แจงถึงประเด็นการขายเลือด ผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างร่วมส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน นอกจากนี้บางส่วนยังเสนอให้สภากาชาดยื่นฟ้องผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จ เนื่องจากสภากาชาดถูกโจมตีเรื่องนี้หลายครั้ง และเคยออกมาชี้แจงแล้ว เมื่อปี 2563

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button