อามาเทราสึ อนุภาคปริศนาร่วงลงมาสู่พื้นโลก เกิดอะไรขึ้น?
นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบอนุภาคปริศนา “อามาเทราสึ” ตกลงสู่พื้นโลก ยังหาคำตอบไม่ได้ถึงสาเหตุและต้นตอการเกิด
เมื่อเร็ว ๆ นี้ Theguardian สื่อต่างประเทศรายงานการสำรวจพบ “อนุภาคพลังงานสูง” โดยนักดาราศาสตร์กล่าวว่าเมื่อตามหาที่มากลับพบว่ามาจากพื้นที่ว่างเปล่าในอวกาศ
อนุภาคดังกล่าวถูกเรียกว่า “อามาเทราสึ” (Amaterasu) ตามเทพีแห่งดวงอาทิตย์ในเรื่องเล่าของญี่ปุ่น โดยทีมวิจัยลงความเห็นว่านี่ถือเป็นหนึ่งในรังสีคอสมิกที่มีพลังงานสูงสุด
ศ.จอห์น แมทธิวส์ จากมหาวิทยาลัยยูทาห์ ผู้ร่วมสังเกตการณ์ กล่าวว่า “เราติดตามวิถีของมันไปยังจุดเริ่มต้น และพบว่าไม่มีอนุภาคที่แข็งแกร่งพอที่จะหลอมรวมมันขึ้นมาได้ และสงสัยมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่?”
พวกเขากล่าวว่า อามาเทราสึ มีพลังงานสูงกว่า 240 เอ็กซาอิเล็กตรอนโวลต์ (EeV) มากกว่าอนุภาคที่ผลิตจากเครื่องชนอนุภาคแฮดรอนขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider) ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคผนึกกำลังแข็งแกร่งหลายเท่า
ทั้งนี้อนุภาคของอามาเทราสึยังน้อยกว่าพลังงานจากอนุภาคโอ้มายก็อด (Oh-My-God) ซึ่งเป็นรังสีคอสมิกพลังงานสูง 320 EeV ที่ตรวจพบในปี 1991
“สิ่งที่ผู้คนคิดว่ามีพลังอย่าง ซูเปอร์โนวา ก็ยังไม่เทียบเท่าสิ่งนี้ มันต้องการพลังและสนามแม่เหล็กสูงมาก ๆ เพื่อจำกัดอนุภาคขณะที่มันเคลลื่อนที่ด้วยความเร็ว” แมทธิวส์กล่าว
รศ.โทชิฮิโระ ฟูจิอิ หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซากาเมโทรโพลิแทน ระบุว่า “ผมค้นพบรังสีคอสมิกพลังงานสูงพิเศษนี้เป็นครั้งแรก ผมคิดว่าต้องมีข้อผิดพลาดแน่ ๆ เพราะมันแสดงระดับพลังงานที่ไม่เคยพบมาก่อนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา”
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยมีความคิดว่า ต้นกำเนิดของอนุภาคอามาเทราสึอาจเป็นหลุมดำขนาดใหญ่ใจกลางกาแล็กซีวงอื่น โดยตั้งสมมติฐานว่า อาจเกิดสสารที่ถูกสลายไป เหลือเพียงโครงสร้างย่อยของอะตอม ได้แก่ โปรตอน อิเล็กตรอน และนิวเคลียส จากนั้นพวกมันก็ถูกเหวี่ยงกระจายทั่วจักรวาลด้วยความเร็วแสง
สำหรับรังสีคอสมิกนั้นตกลงมาสู่โลกเกือบตลอดเวลา ตรวจจับได้ด้วยกล้องที่หอดูดาว Telescope Array ในรัฐยูทาห์ ซึ่งเป็นกล้องที่ค้นพบอนุภาคอามาเทราสึ
โดยปกติ การเคลื่อนที่ของอนุภาคเหล่านี้มีลักษณะคล้ายกับลูกบอลในเครื่องพินบอล พวกมันจะซิกแซกไปตามสนามแม่เหล็กไฟฟ้า แต่สำหรับอนุภาคทรงพลังอย่างโอ้มายก็อดหรืออามาเทราสึนั้น คาดว่าสามารถพุ่งผ่านอวกาศระหว่างกาแล็กซีได้เลย
ทั้งหมดยังคงเป็นเพียงการสันนิษฐานและตั้งข้อสังเกตจากนัดดาราศาสตร์ ต้นกำเนิดของอาสาเทราสึจึงยังคงเป็นการความคิดที่แสดงให้เห็นว่า การโค้งตัวของสนามแม่เหล็กอาจมีขนาดใหญ่กว่าที่คิดไว้มาก หรือแหล่งกำเนิดที่ไม่สามารถระบุได้ใน Local Void
ขอบคุณข้อมูลจาก : theguardian
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม