กรมบัญชีกลาง เผยการปรับเงื่อนไข การจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำ 2 ครั้งต่อเดือน มีกระบวนการแบ่งจ่ายอย่างไร ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจยื่นความประสงค์
หลังจากที่นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้าของการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบต่อเดือน สำหรับข้าราชการหรือลูกจ้างประจำที่สนใจสามารถยื่นแบบความประสงค์ขอรับเงินเดือน 2 รอบต่อเดือนได้ตั้งแต่วันที่ 1 – 15 ธันวาคม 2566 วันนี้จึงขอพาทุกคนไปทำความเข้าใจในการปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกรับเงินเดือนเป็น 2 รอบหรือไม่
เงื่อนไขการปรับจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำ 2 รอบต่อเดือน
ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง การปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำ หลังจากข้าราชการและลูกจ้างประจำยื่นความประสงค์ขอรับเงินเป็น 2 รอบต่อเดือนแล้ว เงื่อนไขการแบ่งจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำ มีรายละเอียดดังนี้
การคำนวณเพื่อแบ่งจ่าย
สำหรับการคำนวณเงินเดือนและค่าจ้างประจำ เพื่อแบ่งจ่ายออกเป็น 2 งวดนั้น จะคำนวณด้วยวิธีดังนี้
1. นำเงินเดือนและค่าจ้างประจำ มาตรวจสอบรายการที่ต้องหักเงิน อาทิ
- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
- กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (กสจ.)
- กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
- หนี้บุคคลที่สาม (สหกรณ์และสถาบันการเงิน)
2. เมื่อคำนวณเพื่อหักเงินเรียบร้อยแล้ว เงินจะถูกแบ่งเป็น 4 ก้อน ได้แก่
- เงินก้อนที่หนึ่ง คือ เงินสุทธิ ที่ข้าราชการและลูกจ้างประจำจะได้รับ นำมาแบ่งจ่ายเป็น 2 ส่วน คือ เงินครึ่งแรก และ เงินส่วนที่เหลือ
- เงินก้อนที่สอง คือ เงินที่นำจ่าย กบข./กสจ. ซึ่งแบ่งจ่ายเป็น 2 ส่วนเช่นกัน คือ เงินครึ่งแรก และ เงินส่วนที่เหลือ
- เงินก้อนที่สาม คือ เงินภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อเตรียมโอนจ่ายให้สรรพากร ในการจ่ายเงินรอบที่ 2
- เงินก้อนที่สี่ คือ เงินกยศ. เพื่อเตรียมโอนจ่ายให้ กยศ. ในการจ่ายเงินรอบที่ 2
การจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิ
การจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินเดือนและค่าจ้างประจำนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 รอบ ดังนี้
รอบที่ 1 : วันที่ 16 ของทุกเดือน เงินจะถูกแบ่งนำจ่ายเป็น 2 ก้อน ได้แก่
- เงินสุทธิครึ่งแรก จะโอนจ่ายให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำ
- เงินกบข./กสจ. ครึ่งแรก จะโอนจ่ายให้แก่ กบข. และ กสจ.
*กรณีที่วันที่ 16 ของเดือนตรงกับวันหยุด ให้เลื่อนเป็นวันทำการก่อนวันที่ 16
รอบที่ 2 : 3 วันสุดท้ายก่อนสิ้นเดือน เงินจะถูกแบ่งนำจ่ายเป็น 4 ก้อน ได้แก่
- เงินสุทธิส่วนที่เหลือ จะโอนจ่ายให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำ
- เงินกบข./กสจ. ส่วนที่เหลือ จะโอนจ่ายให้แก่ กบข. และ กสจ.
- เงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะโอนจ่ายให้กรมสรรพากร
- เงิน กยศ. จะโอนจ่ายให้กรมสรรพากร จากนั้นจึงส่งจ่ายให้กับทาง กยศ.
ทั้งนี้การเลือกรับเงินเดือนและค่าจ้างประจำ 2 ครั้งต่อเดือน เป็นความสมัครใจส่วนบุคคล สำหรับผู้ที่สนใจก็สามารถยื่นความประสงค์ภายในวันที่ 1-15 ธันวาคม 2566 หากผู้ใดไม่ประสงค์รับเงิน 2 รอบ ก็สามารถรับเงินเดือนแบบเดิม คือ โอนจ่ายช่วงสิ้นเดือนโดยตรงตามปฏิทินจ่ายเงินข้าราชการและลูกจ้างประจำของกรมบัญชีกลางได้เช่นกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง