ชำแหละ กระแสหนัง No More Bets ทำไมทำคนจีนขยาดมาไทย ?
กระแสหนังจีนเรื่อง No More Bets ทำคนในรัฐบาลไทยเป็นห่วงตัวเลขนักท่องเที่ยวจากแดนมังกร รุดหารือฑูต เหตุหนังตีแผ่มุมมืดวงการพนันออนไลน์และธุรกิจจีนเทา
กระแสภาพยนตร์จากประเทศจีนที่ชื่อ “孤注一掷” หรือ no more bets ถูกหยยิบยกมาเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้ง ภายหลังจากที่ล่าสุด พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รุดเข้าหารือกับ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย
สำหรับปมที่เป็นข้อวิจารณ์อย่างหนักหน่วงนั้น ก็คือ การที่เนื้อหาของหนังเป็นการตีแผ่มุมมืดวงการพนันออนไลน์และธุรกิจจีนเทา ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้คนดู เพื่อประชาชนจะได้เข้าใจและระวังป้องกันภัยที่เกิดขึ้นจากกลุ่มจีนเทา แต่ต่อมาหนังแนวแอ๊กชั่นอาชญากรรมระทึกขวัญดังกล่าว มีการอ้างข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผบจากกระแสความนิยมก็ทำให้ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวแดนมังกรส่วนมาก เริ่มเข็ดขยาดกับการมาเที่ยวประเทศในกลุ่มอาเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึง “ประเทศไทย” อันเป็นผลสืบเนื่องจากเนื้อหาของภาพยนตร์บางส่วนมีการตีแผ่วงจรฉ้อโกงและการค้ามนุษย์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ผ่านโลกออนไลน์ แถมตัวอย่างหนังยังอ้างว่าสร้างจากคดีจริง
อ้างอิงจากรายงานของไทยพีบีเอส นางพวงเพ็ชร ในฐานะรมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวไม่ได้มีการถ่ายทำที่เมืองไทย แต่มีการนำบางฉากที่มีภาษาไทยออกเผยแพร่ จึงทำให้เกิดการเข้าใจผิด เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย (Weibo) ของจีน ซึ่งวันนี้ได้หารือเรื่องดังกล่าวกับท่านทูตจีนเพื่อสื่อสารไปยังชาวจีนให้เกิดความเข้าใจว่า ไม่มีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยืนยันประเทศไทยมีมาตรการรักษาความปลอดภัย ในการดูแลนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด พร้อมขอให้ทางจีนประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับไทยอย่างใกล้ชิด ผ่านกลไกความร่วมมือของกรมประชาสัมพันธ์ และกลุ่มสื่อแห่งชาติจีน China Media Group (CMG) ที่มีการลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการไปแล้ว เพื่อข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว สกัดกั้นปัญหาการเกิดข่าวปลอมที่สร้างความเสียหายระหว่างทั้งสองประเทศด้วย
ย้อนสำรวจพลอตเรื่อง No more bets ที่โกยรายได้กว่า 500 ล้านดอลลาร์ หลังเข้าฉายเดือนเดียว
สำหรับเรื่องย่อคร่าว ๆ ของ No More Bets ซึ่งเข้าโรงในจีนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นการบอกเล่าเรื่งราวเกี่ยวกับโปรแกรมเมอร์หนุ่มและนางแบบสาวที่ถูกหลอกมาทำงานที่ประเทศหนึ่ง ก่อนที่พวกเธอจะถูกลักพาตัวพร้อมกับถูกบังคับให้ทำงานกับแก๊งค์ต้มตุ๋นออนไลน์ แม้ในหนังจะไม่ได้ระบุเจาะจงว่าเป็นประเทศอะไร แต่จากเนื้อหาในภาพยนตร์ ผู้ส่วนใหญ่ก็มองว่าประเทศดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยบ้านเราค่อนข้างมาก
ก่อนหน้านี้ ย้อนกลับไปเมื่อราว 1-2 เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าว AFP ได้สัมภาษณ์นักท่องเที่ยวชาวจีนวัย 44 ปี ที่เดินทางมาเที่ยวที่ประเทศไทยพร้อมกับสามีและลูกสาว โดยเธอเล่าว่าพ่อแม่เธอไม่เห็นด้วยทีจะให้พวกเธอมาเที่ยวที่ไทย ซึ่งพ่อแม่รู้สึกว่าประเทศไทยไม่ปลอดภัย และโน้มน้าวไม่ให้พวกเธอเดินทางมาเที่ยวไทย เช่นเดียวกันกับเพื่อนๆ ของเธอที่บอกว่าให้มาเที่ยวก่อน ถ้าปลอดภัยแล้วพวกเธอถึงจะค่อยตัดสินใจไปเที่ยวดูบ้าง
ขณะที่ใน กัมพูชา ได้สั่งแบนหนัง No More Bets ไปแล้ว โดยให้เหตุผลว่าเพราะหนังสร้างความเสียหายกับชื่อเสียงและภาพลักษณ์กัมพูชา
อย่างไรก็ตาม นายหาน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวหลังการหารือกับนางพวงเพ็ชร โดยยืนยัน ประเทศไทย ยังเป็นเป้าหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนไม่เปลี่ยน อีกทั้งยังมั่นใจเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่กระทบต่อเชื่อมั่นใจของนักท่องเที่ยวจีนในการเดินทางเข้ามาในบ้านเราอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึง (10 ก.พ.2567).
สำรวจความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์ นี่แหล่ะ Soft power ของจริง
แม้จะมีความพยายามล่าสุดจากฝั่งรัฐบาลไทยกับเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเทพฯ ไปแล้ว แต่ขณะเดียวกันประเด็นข้อถกเถียงดังกล่าวกับปม “คนจีนไม่มาเที่ยวไทย” นี้ ก็ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปเป็นวงกว้าง อาทิ
ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งยอมรับว่า หนังจีนเรื่อง No More Bets ส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศจริง พร้อมตั้งคำถามไปยังรัฐบาล โดยระบุยังไม่เห็นมาตรการอะไรออกมาในการรับมือกับกระแสนี้ (หมายเหตุ : โพสต์นี้เกิดขึ้นก่อนการเข้าหารือของนางพวงเพ็ชร)
“no more bets หนังเรื่องนี้ มีผลต่อนักท่องเที่ยวจีนจริง ๆ ทำให้เรากระตุ้น ขนาดฟรีวีซ่า ยอดนักท่องเที่ยวจีน ไม่กระเตื้องเลย ข่าวจีนเทา ตู๋ห่าว ที่เกิดขึ้นก่อนนั้น มีคนจีนมาตายที่ไทย เว็บ เว่ยป๋อ วิจารณ์ ทั้งภูมิภาค พม่า ไทย กัมพูชา ดินแดนน่ากลัว สำหรับคนจีน ยิ่งหนังได้กระแส คนชมมากเท่าไร ก็ยิ่งกระทบการท่องเที่ยวไทย มากขึ้นเท่านั้น”
“ปีหน้า อย่าคาดหวังว่าคนจีนจะเข้ามา 30 ล้านคนเลย ถึง 10 ล้านก็หรูแล้ว รัฐบาลไทย สร้างภาพลักษณ์ประเทศกลับคืนมาอย่างไร ยังไม่เห็นมาตรการอะไรเลย”
“การรบกันที่โกกั้ง แน่นอนพวกจีนเทาถูกทลายแหล่งซ่องสุม ต้องหลบมาอยู่ที่ ชเว โก๊กโก่ อีกฝั่งของแม่น้ำเมย ห่างแผ่นดินไทยแค่ 50 เมตร ( รูปที่ 2 ด้านล่างคือแม่น้ำเมย ล่างจากนั้นคือฝั่งไทย) ภาระใหญ่ของผม คือปกป้องลูกน้องไม่ให้เป็นเหยื่อได้อย่างไร พวกคอลเซนเตอร์ ยิ่งนับวันยิ่งมีอุบายที่ซับซ้อน น่าเชื่อ ต้องเปิดช่องทางให้ถาม AI ได้ ก่อนที่จะโอนเงินให้คนแปลกหน้า
ความเห็นอีกรายก็มีการพาดพิงถึงภาพยนตร์ดังกล่าวที่ถึงจะไม่ได้บอกว่า เหตุการณ์อันน่าสะพรึงของเหล่ามิจฉาชีพเกิดขึ้นที่ประเทศใด แต่จากเนื้อหาในหนังซึ่งมีทั้งภาษาเขมรและภาษาไทยก็ทำให้อดคิดไม่ได้อีกเหมือนกัน
เช่นเดียวกับเฟซบุ๊กแฟนเพจ เรื่องเล่าของ ๒๗๗ ก็มีการให้ความเห็นว่า
“กระแสการท่องเที่ยวไทยบูมได้ด้วยหนัง Lost in Thailand ก็ซบเซาด้วยหนัง No More Bets ได้เช่นกัน จนเพื่อนบ้านบางประเทศแอบขำที่บริษัทวิจัยจีนเปิดเผยว่าความสนใจมาเที่ยวไทยของคนจีนลดลง”
“เอ่อ ประเทศไทยได้รับความสนใจ”ลดลง”แต่ยังอยู่ในลิสต์นะ ส่วนที่สะใจไม่ได้อยู่ในลิสต์นั้นเลยเน้อ”
ส่วนอีกหลาย ๆ ความเห็นก็ระบุถึงขั้น หนังจีนเรื่องนี้เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft power) ที่เผยให้เห็นด้านลบในประเทศไทย โดยสื่อสารผ่านภาพยนตร์ เช่นเดียวกับที่รัญบาลไทย เคยหวังจะดันหนังไทยเป็นซอฟพาวเวอร์นั่นเอง
จากที่เราเคยมี soft power จากหนังเรื่องธี่หยดและอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศจีนก็ดันออกหนังจีนที่มี soft power ด้านลบกับประเทศไทยออกมาผ่านหนังเหมือนกัน.
ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นในเว่ยป๋อ (Weibo) แพลตฟอร์มออนไลน์แดนมังกรไม่นานมานี้ ระบุ ชาวเน็ตจีน 48,000 จาก 54,000 คน (88%) กลัวที่จะไปเที่ยวที่เมียนมา ขณะที่ผลโพลอีกอัน ระบุ คนตอบ 85% กลัวที่จะไปเที่ยวเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
ขณะที่ รายงานของบีบีซี ในหัวข้อ Chinese tourists are returning – but not to Thailand ให้ข้อมูลถึงสาเหตุที่ทำนักท่องเที่ยวจีนยังต่ำกว่าเป้าหมาย 5 ล้านคนในปีนี้อยู่ถึงครึ่งหนึ่งนั้น หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่อยากมาไทยนอกจากข่าวจีนเทาลักพาตัว, กราดยิงในห้าง ก็คือ “หนังเรื่อง No More Bets” นั่นเอง
- นักท่องเที่ยวจีน กลัวถูกลักพาตัวที่ประเทศไทย หลังหนังจีนจุดกระแส
- สรุปไทม์ไลน์ เด็ก 14 กราดยิงในพารากอน อัปเดตยอดผู้เสียชีวิต
- นักท่องเที่ยวจีนตกท่อสมุทรปราการ ผ่านมาเป็นวัน ยังไม่ซ่อม