ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ใช้สิทธิประกันสังคม เบิกค่ารักษาพยาบาล กรณีเกิดอุบัติเหตุในวันลอยกระทงได้ เช็กวิธีการเบิกค่ารักษา อุบัติเหตุที่เกิดบ่อยและวิธีการป้องกันตัวเอง
ช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองและช่วงที่ประชาชนชาวไทยหลั่งไหลกันร่วมงาน เนื่องในวันลอยกระทง ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ของทุกปี แม้จะเป็นเทศกาลแห่งความสุข แต่ก็อาจมาพร้อมกับอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้ทุกเมื่อ แต่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ไม่ต้องกังวลไป เพราะสามารถใช้สิทธิประกันสังคมเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นในวันลอยกระทง
การใช้สิทธิในสถานพยาบาล
การใช้สิทธิในสถานพยาบาล สำหรับผู้ประกันตนม.33 และ ม.39 หากเกิดอุบัติเหตุสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกสถานพยาบาลเพียงแจ้งใช้สิทธิประกันสังคม โดยการยื่นบัตรประชาชนต่อเจ้าหน้าที่
ผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา หากเข้ารับสิทธิในโรงพยาบาลที่กำหนด แต่หากเข้ารับสิทธิในสถานพยาบาลที่ไม่ได้กำหนดไว้ จะต้องสำรองค่าใช้จ่ายก่อน โดยมีรายละเอียดการเบิกค่ารักษา ดังนี้
1. สถานพยาบาลของรัฐ
- ผู้ป่วยนอก สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
- ผู้ป่วยใน สามารถเบิกค่ารักษาได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ในระยะเวลา 72 ชั่วโมง (ไม่นับรวมวันหยุดราชการ) ค่าห้องและค่าอาหารเบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท
2. สถานพยาบาลของเอกชน
- ผู้ป่วยนอก สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,000 บาท
- ผู้ป่วยใน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามหลักเกณฑ์ และอัตราที่คณะกรรมการแพทย์กำหนด ในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ไม่นับรวมวันหยุดราชการ ส่วนค่าห้องและค่าอาหารเบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท
วิธีเบิกค่ารักษาพยาบาล
ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ที่ใช้สิทธิประกันสังคม หากเกิดอุบัติเหตุในวันลอยกระทง และได้รับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ไม่ได้กำหนดไว้ ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน และต้องขอเอกสารใบรับรองแพทย์ รวมถึงใบเสร็จรับเงิน เพื่อใช้เบิกคืนที่สำนักงานประกันสังคม โดยมีเอกสารประกอบการยื่นคำขอกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย ดังนี้
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01)
2. ใบรับรองแพทย์ (ระบุอาการที่เกิดขึ้นโดยละเอียด)
3. ใบเสร็จรับเงิน (กรณีฉุกเฉินไม่เข้าโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ)
4. หนังสือรับรองจากนายจ้าง (กรณีเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้)
5. สถิติวันลาของผู้ยื่นคำขอ
6. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารหน้าแรกที่มีชื่อ และเลขที่บัญชี กรณีขอรับเงินทางธนาคารต่าง ๆ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
7. เอกสารหลักฐานอื่นหาเจ้าหน้าที่ขอเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณา
ผู้มีสิทธิประกันสังคม สามารถนำเอกสารข้างต้นยื่นเบิกค่ารักษาได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข ภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่จ่าย
อุบัติเหตุที่เกิดบ่อย และวิธีป้องกันในคืนลอยกระทง
เช็กสิทธิประกันสังคมกันแล้ว มาเช็กอุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นในวันลอยกระทงกันบ้าง โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ให้ข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดบ่อย และแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลรื่นเริง จะมีอุบัติเหตุใดที่ควรระมัดระวังบ้าง เลื่อนลงมาดูพร้อม ๆ กันเลย
1. อุบัติเหตุทางรถ
ขึ้นชื่อว่าเทศกาลไทย ยังไงก็หนีไม่พ้นแอลกอฮอล์ หากดื่มสังสรรค์พอเป็นพิธีคงจะไม่มีปัญหา แต่หากเกิดอาการมึนเมาแล้วขับรถไปตามที่ต่าง ๆ ย่อมเกิดอุบัติเหตุตามเป็นแน่แท้
นอกจากนี้วันลอยกระทงเป็นวันที่ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมตามที่ต่าง ๆ โดยอาจส่วนมากอาจเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถจักรยานยนต์เพื่อความสะดวก เนื่องจากเป็นกิจกรรมช่วงกลางคืน ผลที่ตามมาคือการจราจรติดขัด เพราะมียานพาหนะเป็นจำนวนมาก อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ง่าย หากขับรถโดยไม่ระมัดระวัง
2. อุบัติเหตุจากดอกไม้ไฟ
แม้จะมีการรณรงค์ว่าไม่ควรจุดพลุ จุดดอกไม้ไฟ รวมถึงปล่อยโคมลอยในวันลอยกระทง แต่ก็ยังไม่สามารถงดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังมีประชาชนบางส่วนลักลอบนำมาขายในพื้นที่งานลอยกระทง ทั้งที่มีกฎหมายห้ามจำหน่ายอย่างชัดเจน เนื่องจากเกิดผลกระทบต่อผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะโคมลอยที่เคยมีข่าวว่า โคมลอยตกหลังคาเป็นเหตุให้บ้านไฟไหม้
โดยส่วนใหญ่แล้วอุบัติเหตุจากดอกไม้ไฟจะเกิดขึ้นกับเด็ก หากผู้ใหญ่ไม่คอยดูแล อาจทำให้ได้รับอันตรายจากประทัดหรือดอกไม้ไฟ ส่งผลให้สูญเสียอวัยวะในที่สุด
3. การจมน้ำ
กิจกรรมวันลอยกระทงจะดำเนินการอยู่บริเวณริมแม่น้ำลำคลอง รวมถึงอ่างเก็บน้ำและเขื่อนเสียส่วนใหญ่ และด้วยความที่เป็นช่วงกลางคืน อาจทำให้มองเห็นไม่ชัดเจน แม้ว่าจะมีผู้คนพลุกพล่าน แต่หากไม่ระวังอาจพลัดตกลงไปในน้ำได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อาจตกลงไปแล้วจมน้ำได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
4. คนแออัดจนหกล้ม
ประชาชนมากมายที่หลั่งไหลเข้ามารวมตัวในพื้นที่ปิดอันตรายกว่าที่คิด เพราะอาจเกิดการเบียดเสียด หายใจลำบากเพราะอากาศไม่เพียงพอ ร้ายแรงที่สุดคือเบียดกันจนล้ม ได้รับบาดเจ็บกันแบบโดมิโน อีกทั้งยังอาจพลัดหลงกับบุตรหลานหรือคนที่เดินทางไปร่วมงานด้วยได้ง่ายกว่าปกติอีกด้วย
สำหรับวิธีการป้องกัน สามารถทำได้โดยการขับรถด้วยความไม่ประมาท ขับอย่างมีสติและระมัดระวังโดยเฉพาะช่วงกลางคืน และหากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ห้ามขับรถยนต์หรือรถจักรยายนต์ เพื่อความปลอดภัย
หากเดินทางร่วมประเพณีลอยกระทงในพื้นที่ปิด ควรหลีกเลี่ยงการยืนริมน้ำที่มีคนแออัด เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุทางน้ำได้ง่าย ต้องมีสติอยู่เสมอ และก่อนเข้างานควรมองหาทางเข้าและทางออก เมื่อเกิดเหตุร้ายจะได้มีช่องทางการหลบหนีไปยังที่ปลอดภัยได้ และที่สำคัญคือ หากเข้าไปร่วมกิจกรรมตามที่ต่าง ๆ ห้ามจุดพลุ และดอกไม้ไฟใกล้คนหรือสัตว์โดยเด็ดขาด
วันลอยกระทงถือเป็นอีกช่วงเทศกาลหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมิใช่น้อย แม้จะผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 จะได้รับสิทธิรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสามารถเบิกค่ารักษาได้ แต่การป้องกันตัวเองไม่ให้ได้รับบาดเจ็บนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ขอให้ทุกท่านร่วมกิจกรรมอย่างปลอดภัย และระมัดระวังตัวเองกันด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน / กระทรวงแรงงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รวมเบอร์โทรฉุกเฉิน วันลอยกระทง แจ้งอุบัติเหตุทางน้ำ เหตุด่วนเหตุร้าย
- วิธีป้องกันสัตว์เลี้ยงตกใจเสียงพลุ ในงานวันลอยกระทง รับมือก่อนเจ้านายหนีหายจากบ้าน
- รวมข้อห้ามวันลอยกระทง 2566 ตามกฏหมายและความเชื่อ ฝ่าฝืนโดนปรับหรือหายนะตามมา