ไลฟ์สไตล์

วิธีป้องกันสัตว์เลี้ยงตกใจเสียงพลุ ในงานวันลอยกระทง รับมือก่อนเจ้านายหนีหายจากบ้าน

มัดรวมทริกสำหรับทาส เตรียมพร้อมป้องกันสัตว์เลี้ยงตกใจเสียงพลุในงานวันลอยกระทง สร้างความเครียดและความหวาดกลัว จนสัตว์ตัวน้อยหนีออกจากบ้าน

เข้าสู่ช่วงเทศกาลลอยกระทงแบบนี้ เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและการเฉลิมฉลองด้วยพาครอบครัวไปลอยกระทง ปล่อยโคมลอย แต่ในคืนวันลอยกระทงก็มักจะมากับพลุและเสียงดังตลอดทั้งคืน ถือเป็นศัตรูคนสำคัญที่อาจทำให้หมา แมวของคุณตกใจกลัว แถมยังสร้างความเครียดให้กับเจ้านายของคุณ จนหนีออกจากบ้านในที่สุด เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น ทีมงาน Thaiger ได้รวบรวมทริกมาฝากทุกท่านให้เตรียมพร้อมรับมือกันก่อนที่น้อง ๆ จะหนีออกจากบ้านไปเพราะตกใจเสียงพลุในคืนนี้

วิธีป้องกันสัตว์เลี้ยงตกใจเสียงพลุในงานวันลอยกระทง

ก่อนที่จะไปดูวิธีป้องกันเพื่อเตรียมตัวรับมือ ขอให้ทุกคนทำความเข้าใจก่อนว่า ปกติแล้วสมรรถภาพการได้ยินของสุนัขและแมวจะมีความถี่สูงกว่ามนุษย์ เมื่อได้ยินเสียงที่สูงอย่างพลุและประทัดแล้วสัตว์เลี้ยงของคุณจึงมีอาการวิตกกังวล เครียด และตกใจกลัว หากสัตว์เลี้ยงของคุณเกิดอาการหวาดกลัวเสียงพลุไปแล้ว วิธีป้องกันก็มีอยู่ด้วยกันง่าย ๆ 6 ขั้นตอน ดังนี้

1. เตรียมพื้นที่หลบภัยในบ้าน

สถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดของสัตว์เลี้ยงยังไงก็เป็นบ้านที่น้อง ๆ ใช้ชีวิตอยู่ในชีวิตประจำวัน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับสัตว์เลี้ยงตัวน้อย ควรหาที่สงบ อยู่ห่างจากหน้าต่างหรือประตู เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงมองเห็นหรือได้ยินเสียงพลุ ที่สำคัญอย่าลืมปิดหน้าต่างและประตูให้เรียบร้อยน้อง ๆ จะได้ไม่วิ่งหนีออกจากบ้าน อย่าลืมเตรียมของเล่น ผ้าห่ม หรือตุ๊กตาที่คุ้นเคยไว้สำหรับซุกนอนหรือหลบซ่อนตัว

2. คอยอยู่ข้าง ๆ สัตว์เลี้ยง

การที่เจ้าของช่วยปลอบใจจะช่วยให้สุนัขรู้สึกสบายใจและอุ่นใจมากกว่าต้องอยู่ลำพัง ลองพยายามชวนคุยหรือชวนเล่นของเล่นที่ชอบ เพื่อให้เจ้านายของคุณรู้สึกอุ่นใจ หายเครียดได้ง่ายยิ่งขึ้นและรู้สึกปลอดภัยเมื่อมีคุณอยู่ข้าง ๆ แต่ถ้าสัตว์เลี้ยงของคุณยังหลบอยู่ในมุมของตัวเองก็อย่าเพิ่งบังคับให้น้องออกมาเล่นนะ ไม่อย่างนั้นอาจจะทำให้เจ้านายของคุณเครียดมากกว่าเดิมก็ได้

3. สร้างความคุ้นเคยให้ชินกับเสียงเจ้าปัญหา

อาจจะดูโหดร้ายไปสักนิด แต่หนึ่งในวิธีป้องกันหมาและแมวของคุณจากเสียงพลุที่ดีและได้ผลคือการสร้างความคุ้นชินให้กับน้อง ๆ เพียงแค่ลองเปิดเสียงพลุหรือประทัดเบา ๆ วันละ 5-10 นาที เพื่อสร้างการจดจำ เรียนรู้ และสร้างความคุ้นเคย เมื่อถึงสถานการณ์จริงสัตว์เลี้ยงของคุณจะได้ไม่รู้สึกวิตกกังวลนั่นเอง

รวมวิธีป้องกันสัตว์เลี้ยงจากเสียงพลุในงานลอยกระทง มีอะไรบ้าง

4. พาไปออกกำลังกาย

อีกหนึ่งเคล็ดลับสำคัญคือการพาสุนัขของคุณไปออกกำลังกายตอนเย็นเพื่อเผาผลาญพลังงาน และรู้สึกเหนื่อย เมื่อถึงเวลาที่งานลอยกระทงใกล้บ้านเริ่มจุดพลุ จุดประทัด สัตว์เลี้ยงของคุณจะตื่นตัวน้อยลง สงบมากขึ้น และควบคุมตัวเองได้ดีเพราะเหนื่อยล้าจากการออกกำลังกายไปแล้วเรียบร้อย

5. ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด

อย่าลืมปิดประตู หน้าต่าง ช่องว่างเล็ก ๆ ที่สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะแมวสามารถหนีออกไปได้ให้มิดชิดเรียบร้อย รวมถึงปิดผ้าม่านทุกผืนในม่านด้วย เพราะแสงสว่างของพลุก็อาจทำให้เกิดความกลัวได้เช่นกัน หากปิดประตูและหน้าต่างแล้วแต่น้อง ๆ ยังกลัวเสียงพลุ ลองเปิดโทรทัศน์หรือเพลงคลอเบา ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและลดความกังวลของสัตว์เลี้ยงของคุณ

6. พบสัตวแพทย์

ในกรณีที่สัตว์แสดงอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรงจนเจ้าของไม่สามารถควบคุมได้ ขอให้คุณรีบพาไปพบสัตวแพทย์ในทันที เพื่อให้สัตวแพทย์พิจารณาอาการเพื่อให้ยาซึมหรือยาสงบสติตามแต่ความเหมาะสม นอกจากนี้สัตวแพทย์จะยังช่วยแนะนำวิธีช่วยให้สัตว์ไม่กลัวกับเสียงที่ดังจนเกินไปให้เหมาะสมและปลอดภัยกับสัตว์เลี้ยงของเราได้ดียิ่งขึ้น

วิธีป้องกันสัตว์เลี้ยงตกใจเสียงพลุ วันลอยกระทง 2566

สัตว์เลี้ยงหนีออกจากบ้านในคืนวันลอยกระทง ควรทำอย่างไร

หากสัตว์เลี้ยงของคุณตกใจเผลอวิ่งหนีออกจากบ้านไปแล้วเรียบร้อย ขอให้คุณตั้งสติและเริ่มตามหาจากจุดที่คุ้นเคยทั้งในบ้านและบริเวณใกล้เคัยง หากไม่เจอให้ลองถามเพื่อนบ้านหรือสอบถามในกลุ่มแชทหมู่บ้าน หรือลองทำประกาศตามหาด้วยการทำป้ายติดไว้ตามเสา โพสต์ลงโซเชียลต่าง ๆ เพื่อให้ชาวโซเชียลช่วยกันตามหา

อีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะช่วยให้น้องหมาและน้องแมวกลับสู่อ้อมอกเจ้าของได้ไวมากยิ่งขึ้น คือการสวมปลอกคอให้น้อง ๆ พร้อมเขียนชื่อเจ้าของ หมายเลขโทรศัพท์ และช่องทางติดต่อทางโซเชียลมีเดีย หากมีคนใจดีเจอเจ้านายของคุณเข้าก็มีโอกาสที่น้อง ๆ จะกลับบ้านได้เร็วยิ่งขึ้น

สัตว์เลี้ยงหนีออกจากบ้านวันลอยกระทง ต้องทำอย่างไรบ้าง

หากใครที่กำลังกังวลว่าสัตว์เลี้ยงของคุณจะตกใจเสียงพลุหรือไม่ในคืนวันลอยกระทง แนะนำให้ลองทำตามวิธีที่ทีมงานไทยเกอร์เสนอกันไปได้เลย แต่ถึงอย่างนั้นก็ขอให้เจ้าของทุกท่านห้ามปลอบ ห้ามโอ๋ ห้ามกอด และห้ามสัมผัสแบบปลอบประโลมเด็ดขาด เพราะเจ้านายของคุณอาจจะยิ่งแสดงความวิตกออกมามากยิ่งขึ้น แถมเผลอ ๆ จะทำให้น้องเครียดมากกว่าเดิมอีกด้วยนะ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button