รวมข้อห้ามวันลอยกระทง 2566 ตามกฏหมายและความเชื่อ ฝ่าฝืนโดนปรับหรือหายนะตามมา
วันลอยกระทง เทศกาลที่เต็มไปด้วยกิจกรรมรื่นเริงและเฉลิมฉลอง วันนี้ Thaiger จะมาแบ่งข้อห้ามวันลอยกระทงออกเป็น 2 แบบให้ทุกคนนำไปทำตามกัน ตามมาตรการป้องกันอันตรายช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2566 จากประกาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ประชาชนระวังเรื่องการจุดพลุ บั้งไฟ โคมลอย และอันตรายทางน้ำ ส่วนความเชื่อไทยโบราณให้ระวังเรื่องการไปลอยกับคนรัก ทำกระทงคว่ำ ซึ่งถือเป็นหายนะแก่ชีวิต
ข้อห้ามวันลอยกระทงตามกฏหมายที่เราต้องรู้
กทม. ออกประกาศเรื่องมาตรการป้องกันอันตราย เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงเทศกาล “ลอยกระทง 2566” มีรายละเอียดดังนี้
1. ห้ามจุดหรือปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน
และห้ามกระทำการอย่างใดให้สิ่งเหล่านี้ขึ้นไปสู่อากาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่นั้น หากผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเป็นความผิดตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ระวังอุบัติเหตุทางน้ำ
กำชับผอ.เขตให้ดูแลความพร้อมและมาตรการดูแลความปลอดภัยบริเวณท่าน้ำและโป๊ะ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำจากการพลัดตก ลื่นไหล หรือความไม่แข็งแรงของโป๊ะ
3. ห้ามใช้งานอุปกรณ์หรือเครื่องเล่นที่ชำรุดเสียหาย
ปิดการใช้งานเครื่องเล่นทันทีเมื่อพบว่าไม่ปลอดภัย โดยผอ.เขตต้องตรวจสอบความปลอดภัยของสถานที่จัดงานอย่างเข้มงวด และจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดูแลพื้นที่
4. ระวังพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น
โดยเจ้าหน้าที่และหน่วยแพทย์ต้องจับตาดูเหตุการณ์ตามบริเวณต่าง ๆ โดยใช้กล้อง CCTV เพื่อระวังความปลอดภัยให้ประชาชน
5. ห้ามทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าวัตถุก่อประกายไฟทุกชนิด
แม้ว่า กทม. จะกำหนดแผนป้องกันดอกไม้เพลิง โคมลอย หรืออุปกรณ์ระเบิด แต่ก็ห้ามมิให้ผู้ใดทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าดอกไม้เพลิง พลุ ประทัดไฟ ประทัดลม ตลอดจนวัตถุอันมีสภาพคล้ายคลึงกัน นอกจากได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ประสงค์จะขอจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใดเพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไลโคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ ให้ยื่นแบบคำขอรับใบอนุญาต พร้อมแผนการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อผู้อำนวยการเขตพื้นที่ หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ ให้แจ้งศูนย์วิทยุพระรามทันที โทร.199
6. ห้ามลักลอกนำชุดอุปกรณ์หรือสถานที่สุ่มเสี่ยงชำรุดเสียหายมาใช้งาน
สถานประกอบการสถานบันเทิง ผู้จัดงาน หรือเจ้าของสถานที่ต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานที่ก่อนจัดงาน หากพบปัญหาให้ดำเนินการแก้ไขให้มีความปลอดภัย หรือติดต่อผู้รับผิดชอบงานทันที
7. เตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและเจ้าหน้าที่แพทย์ให้พร้อม
ต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อม กรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน ติดต่อหาคนประจำจุดเพื่อลดคนหนาแน่นในพื้นที่ และกรณีเหตุฉุกเฉินให้ประสานงานกับสำนักงานเขตอย่างใกล้ชิด
8. ห้ามผู้ใหญ่ปล่อยทิ้งบุตรหลานไว้คนเดียว
ให้ผู้ปกครองดูแลเด็ก ๆ อย่าให้พลัดหลง และให้ลอยกระทงในพื้นที่ที่มีความมั่นคงแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นท่าน้ำหรือโป๊ะเรือต้องมีแสงสว่างเพียงพอ ป้องกันการตกน้ำด้วยกาสวมเสื้อชูชีพ
9. งดดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพของมึนเมาทุกชนิด
เพื่อป้องกันการพลัดตกน้ำหรือประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน แจ้งศูนย์เอราวัณ โทร. 1669
ความเชื่อโบราณวันลอยกระทง ห้ามทำอะไรบ้าง
เนื่องจากลอยกระทงเป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดมายาวนาน ถูกร้อยเรียงด้วยเรื่องเล่าปากต่อปากว่าทำแบบนี้แล้วรวย ทำแล้วดี ทำแล้วมีแฟน กลายเป็นความเชือที่คลุกเคล้าอยู่ในตัวคนไทย จะมีความเชื่อแบบไหนบ้างไปดูกัน
1. กระทงคว่ำ หมายถึง ลางร้าย
เชื่อว่าหากกระทงคว่ำจะมีโชคร้าย หรืออาจเกิดเรื่องไม่ดีกับชีวิต หยิบจับทำอะไรก็มือไม่ขึ้น ไม่สำเร็จ บางครั้งถึงขั้นที่ว่าหายนะถึงชีวิต ซึ่งแท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงลมหรือกระแสน้ำที่พัดให้กระทงปลิวคว่ำลงไป ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณแต่ละคน
2. ลอยกระทงกับแฟนแล้วจะเลิกกัน
ข้อห้ามที่ว่าห้ามไปลอยกระทงกับคนรักเดี๋ยวจะเลิกกัน เหมือนเป็นการพัดพาเอาสิ่งไม่ดีออกไป ซึ่งคนรักกันอาจผูกด้วยเวรกรรมเก่ากันมา หากตัดกรรมหรืออธิษฐานเช่นนั้นแล้ว อาจมีเหตุให้เลิกรากันก็เป็นได้
3. ลอยกระทง เท่ากับ ได้แฟน
ข้อห้ามที่ไม่แน่ใจว่าใช่ข้อห้ามไหม คือการ “ห้ามอยู่บ้าน” แต่จงออกไปเฉิดฉาย ในวันที่หลายคนแต่งตัวสวยหล่อ เราก็อาจเป็น 1 ในผู้ถูกเลือกให้พบกับรักแท้ก็ได้นะ
4. ห้ามให้กระทงแยกออกจากกัน
ความเชื่อนี้หมายความว่าลอยยังไงก็ได้แต่กระทงทั้งคู่ห้ามไปคนละทิศละทาง มิเช่นนั้นอาจทะเลาะหรือจบความสัมพันธ์กันได้ อย่างไรก็ตามความเชื่อนี้ขึ้นอยู่กับทางน้ำทางลมมากกว่า เพราะกระทงแปลว่าอิสระ จะลอยไปทางไหนก็ได้ เรามิอาจบังคับใครได้แม้แต่กระทง
5. ห้ามลอยกระทงเปล่า ๆ ต้องใส่เหรียญหรือเล็บลงไปด้วย
แน่นอนว่า้อนี้คนไทยรู้ดี ทุกครั้งเวลาลอยกระทงเราต้องตัดเล็บ เล็มผมเพื่อยัดเข้าไปในกระทง เพื่อทิ้งสิ่งไม่ดีออกไป บางคนใส่เหรียญหรือธนบัตรพับเข้าไปด้วย เพื่อให้เงินไหลมาเทมาไม่ขาดสาย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม